ครู EMS คนแรกของฉัน..........อาจารย์สมชาย กาญจนสุต......

อุบล ยี่เฮ็ง

ศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” โรงพยาบาลราชวิถี

อ่าน: บทกลอน แด่.....อาจารย์สมชาย กาญจนสุต....ผู้บุกเบิกงาน EMS

เมื่อเอ่ยคำว่า “นเรนทร” ชื่อหนึ่งที่ทุกคนจะต้องนึกถึงคือ อาจารย์สมชาย กาญจนสุต ผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลรุ่นแรกๆที่บุกเบิกหน่วยงานนี้ขึ้นมา ตั้งแต่ครั้งที่กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดโครงการนำร่องการรักษาพยาบาล ณ จุดเกิดเหตุ โดยจัดตั้งศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” โรงพยาบาลราชวิถี เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2538 เพื่อเป็นต้นแบบของการให้บริการรักษาพยาบาล ณ จุดเกิดเหตุของประเทศไทย ซึ่งขณะนั้น อาจารย์สมชาย กาญจนสุต ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ของโรงพยาบาลราชวิถี และยังต้องเป็นหัวหน้าศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” โรงพยาบาลราชวิถี ในเวลาเดียวกันด้วย จนกระทั่งต่อมาได้จัดตั้งให้มีสำนักงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน หรือที่เรียกกันว่า “ ศูนย์นเรนทร กระทรวงสาธารณสุข” ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีหน้าที่จัดระบบ EMS ของประเทศไทย ซึ่งอาจารย์สมชาย กาญจนสุต ก็ได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์นเรนทร กระทรวงสาธารณสุข เป็นคนแรกอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย จึงทำให้ผู้คนเกิดความเข้าใจสับสนคิดว่าเป็นหน่วยงานเดียวกันกับ ศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” โรงพยาบาลราชวิถี ฉันขอย้ำอีกครั้ง ว่าไม่ใช่หน่วยงานเดียวกัน ปัจจุบันคงหายสับสนแล้วล่ะ เพราะศูนย์นเรนทร กระทรวงสาธารณสุข ได้เปลี่ยนโครงสร้างไปเรียบร้อยแล้ว ชื่อนี้คงเป็นเพียงตำนานหนึ่งในระบบ EMS ของเมืองไทยที่ผู้คนคงยังจำกันได้ดี และยังคงจำได้ว่าอาจารย์สมชาย กาญจนสุต เป็นผู้อำนวยการคนแรกของศูนย์นเรนทร กระทรวงสาธารณสุข

ตัวฉันเอง ก็เติบโตมาจากศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” โรงพยาบาลราชวิถี โดยปฏิบัติหน้าที่ที่ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลราชวิถีตั้งแต่เรียนจบพยาบาลมาเป็นเวลา 16 ปี หลังจากนั้นในปีพ.ศ.2540 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าพยาบาลศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” โรงพยาบาลราชวิถี จนถึงปัจจุบัน (ฟังชื่อตำแหน่งก็โก้ดีนะ แต่จริงๆไม่มีลูกน้องในสายบังคับบัญชาสักคน...แต่ฉันก็พอใจนะ) สำหรับชีวิตการทำงานของฉัน ตั้งแต่ทำงานอยู่ในห้องฉุกเฉินจนมาทำงานที่ศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” ฉันได้มีโอกาสทำงานร่วมกับอาจารย์สมชาย กาญจนสุต มาตั้งแต่แรก กระทั่งถึงวาระที่อาจารย์สมชายเกษียณอายุราชการ โอกาสนี้ ฉันจึงคิดที่จะเขียนบทความที่เรียบเรียงจากความทรงจำของฉัน ตลอดระยะเวลาที่ได้ทำงานร่วมกับอาจารย์ ซึ่งเป็นระยะเวลายาวนานที่สุดมากกว่าผู้อื่น เพื่อบอกเล่าเรื่องราวต่างๆในงาน EMS ที่อาจารย์ได้บุกเบิกและสั่งสอนให้ฉันได้เข้าใจ ได้เรียนรู้ สั่งสมประสบการณ์ด้าน EMS ถึงแม้ว่า บ่อยครั้งที่ฉันมีความเห็นขัดแย้ง ขัดใจ หรือถึงขั้นคล้ายๆจะทะเลาะกันกับอาจารย์ แต่ฉันก็ขอบอกว่า ฉันเป็นตัวเป็นตนและมีผู้คนรู้จักในฐานะคนทำงานด้าน EMSคนหนึ่งจนถึงปัจจุบัน ก็เพราะอาจารย์สมชายนี่แหละที่เป็นครูคนแรกที่สอนงานด้าน EMS ให้ฉัน ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งยังคอยสนับสนุนและให้โอกาสเรื่องการทำงานในด้านต่างๆมาโดยตลอด ในวาระที่อาจารย์เกษียณอายุราชการ ทั้งๆที่รู้ว่านิสัยของอาจารย์ ไม่ค่อยชอบให้ใครมาทำอะไรเป็นพิธีรีตองมากนัก แม้แต่การที่จะจัดงานให้หรือทำหนังสือให้ อาจารย์ก็ไม่ปลื้มนัก แต่ฉันก็ต้องขอขัดใจอาจารย์อีกสักครั้ง ที่จะเขียนบทความนี้ขึ้น เพื่อแสดงมุทิตาจิตที่ฉันมีต่ออาจารย์ในวาระที่สำคัญเช่นนี้

ฉันขอเล่าเรื่อราวในระยะเวลาที่ฉันทำงานในห้องฉุกเฉินร่วมกับอาจารย์ ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มงานอุบัติเหตุฉุกเฉิน( เป็นชื่อในสมัยนั้น ซึ่งต่อมา เปลี่ยนเป็นกลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน) เพื่อเป็นไตเติ้ลของเรื่องสักเล็กน้อย ก่อนที่ฉันจะย้ายมาทำงานที่ศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” ฉันทำงานในห้องฉุกเฉินมาก่อนถึง 16 ปี เจ้าหน้าที่ทุกคนไม่ว่าแพทย์หรือพยาบาลมีความรักใคร่สนิทสนมกันมาก มักไปเที่ยวตามต่างจังหวัดในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์กันอยู่บ่อยๆ รวมถึงตัวอาจารย์สมชายด้วย โดยเฉพาะที่บ้านพี่ประชิด ซึ่งเป็นหัวหน้าพยาบาลห้องฉุกเฉินในสมัยนั้น เพราะบ้านประชิดอยู่ที่แม่กลอง มีอาหารทะเลโดยเฉพาะปูสดๆ เนื้อหวานอย่าบอกใคร เราล้อมวงกินปูซึ่งพี่ประชิดใส่ในกะละมังใหญ่ๆมาให้ ใครจะกินได้แค่ไหนก็อยู่ที่ความไวของคนนั้น กินอิ่มก็นั่งเรือล่องตามคลองเล็กคลองน้อย จนเกือบถึงปากอ่าวแม่กลอง ก็ไม่มีใครอยากที่จะออกไปไกลกว่านี้แล้ว เพราะดูน่ากลัวอย่างไงๆชอบกล ต้องบอกให้คนขับเรือหันหัวเรือกลับ แต่ก็ตื้นเต้นดีนะ นี่เห็นว่าพี่ประชิดจะเชิญอาจารย์ไปเที่ยวแบบเดิมๆอีกสักครั้ง อาจารย์คงจะได้รับเชิญเร็วๆนี้แหละ และที่น่าแปลกก็คือ ไม่ว่าแพทย์หรือพยาบาลที่เคยได้ออกไปเที่ยวด้วยกันในหลายต่อหลายครั้งในอดีต ปัจจุบันที่ไม่ได้รับราชการก็ไปเป็นนักธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จ ส่วนผู้ที่รับราชการก็มีตำแหน่งหน้าที่การงานใหญ่ๆโตๆกันทุกคน เว้นฉันฉัน ซึ่งเงินเดือนตันมาหลายปีแล้ว สงสัยเป็นเพราะว่าฉันคงนั่งตรงท้ายเรือมั๊ง พอกลับจากการเที่ยว กลับมาทำงานก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน บางทีก็ทะเลาะเบาะแว้งกันบ้าง แต่ก็ไม่เคยโกรธกันจริงๆสักที สมัยนั้นยังไม่มีแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน จำได้ว่าอาจารย์สมชายเป็นแพทย์ที่อ่าน EKG และใส่ E-T Tube เก่งมากคนหนึ่ง เวลาแพทย์ฝึกหัดใส่ E-T Tube ไม่ได้ อาจารย์สมชายมักจะเป็นผู้ที่ช่วยใส่ให้เสมอๆ สมัยนั้น ER ตั้งอยู่ที่ศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” ในปัจจุบัน ห้องหับก็คับแคบ โต๊ะก็ไม่ค่อยจะพอให้เจ้าหน้าที่นั่ง อาจารย์จึงมักมานั่งที่โต๊ะพยาบาล ทำให้พยาบาลรู้สึกเกะกะ (ไม่รู้ว่าพยาบาลคนอื่นๆในสมัยนั้นคิดเหมือนฉันหรือเปล่า) เพราะลงทะเบียนไม่ได้ สมัยนั้นไม่มีคอมพิวเตอร์ ทะเบียนจึงมีความจำเป็นสำหรับข้อมูลในทุกเรื่อง แต่ก็ดีไปอย่าง เวลาพยาบาลอ่านลายมือหมอไม่ออก ก็จะคอยถามอาจารย์ที่โต๊ะนี่แหละ ฉันผทำงานร่วมกับอาจารย์ในห้องฉุกเฉินประมาณ 14 ปี หลังจากนั้นอาจารย์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์ด้านอุบัติเหตุและสาธารณภัย (สอส: ปัจจุบันเปลี่ยนโครงสร้างไปแล้ว) อีกตำแหน่งหนึ่ง ซึ่งขณะนั้น กรมการแพทย์ได้จัดให้มีโครงการนำร่องการรักษาพยาบาล ณ จุดเกิดเหตุ โดยจัดให้มีศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” โรงพยาบาลราชวิถีขึ้น เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2538 เพื่อเป็นต้นแบบในประเทศไทย อาจารย์จึงต้องลงมารับผิดชอบงานส่วนนี้อย่างเต็มตัวอีกงานหนึ่งด้วย โดยทำงานร่วมกับผู้บุกเบิกทั้งสายแพทย์และสายพยาบาลในสมัยนั้นอีกหลายท่าน ฉันเองก็อยู่ในตำนานของการเปิดตัวศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” เป็นครั้งแรกเหมือนกัน คือร่วมแสดงเป็นพยาบาลในทีมกู้ชีพ ในวันเปิดตัวศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” อย่างเป็นทางการ โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขในสมัยนั้น มาเป็นประธานในพิธีเปิด

ในปีพ.ศ. 2540 ฉันได้รับมอบหมายให้มาปฏิบัติงานที่ศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” ซึ่งถึงแม้ว่าฉันจะมีประสบการณ์ในเรื่อง ER ที่พี่ๆพยาบาลและอาจารย์แพทย์หลายท่านในสมัยนั้นได้อบรมสั่งสอนมาเป็นเวลานานถึง 16 ปีแล้วก็ตาม (ต้องขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย) แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ฉันรู้สึกเบาใจสักนิด เพราะในชีวิตการเป็นพยาบาล ฉันไม่เคยได้เล่าเรียนวิชาที่เกี่ยวข้องกับงาน EMS มาก่อนเลย ไม่รู้สักนิดว่า EMS คืออะไร ฉันต้องมาเริ่มเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างใหม่หมด ที่มีคนพูดว่า “มืด 8 ด้าน” แต่ฉันรู้สึกว่าตัวเองมืด 10 ด้านเลยแหละ งานที่ได้รับมอบหมาย มีบางสิ่งบางอย่างเท่านั้นที่คล้ายๆกับงาน ER ส่วนใหญ่ต้องมาเรียนรู้อีกมากมาย สมันนั้น ศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” ไม่ได้เป็นห้องหับที่เป็นสัดส่วนเช่นปัจจุบัน ไม่มีรั้วรอบขอบชิด ยุงบินเข้าได้ทุกห้อง เจ้าหน้าที่วิทยุทำงานไปตบยุงไป คนทำงานทุกคนซึ่งส่วนมากเป็นอาสาสมัคร ทั้งจากมูลนิธิร่วมกตัญญูและป่อเต็กตึ๊ง ล้วนต้องเป็นเพื่อนกันกับยุง ฉันได้มีโอกาสเข้าใจและเรียนรู้การทำงานกับอาสาสมัครก็จากตรงนี้ อาจารย์สมชายมีห้องทำงานอยู่ที่ชั้น2 ของศูนย์ และมักนอนอยู่ที่นี่ โดยไม่ค่อยได้ออกไปไหน ทั้งยังต้องคอยเป็น Commander ในการสั่งการออกรถตลอด 24 ชั่วโมง เพราะสมัยนั้นยังไม่มีศูนย์สั่งการเป็นศูนย์เดียวเหมือนทุกวันนี้ ระยะต่อมาอาจารย์ได้มอบหมายให้ฉันเป็น Commander ในช่วงที่อาจารย์ไม่อยู่ ทำให้ฉันได้เรียนรู้ถึงภาวะการตัดสินใจในการเป็น Commander ในระบบ EMSได้อย่างลึกซึ้งและถ่องแท้มากยิ่งขึ้น สมัยนั้นยังไม่มีใครรู้และเข้าใจที่จะให้ความสำคัญกับงาน EMS เท่าไรนัก หนังสือตำราก็ไม่มีให้ได้เรียนรู้ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินก็ยังไม่มี โชคดีที่มีอาจารย์คอยสอนและชี้แนะเรื่องเหล่านี้ให้ ประกอบกับช่วงนั้นไทยต้องเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์และเฟสปิคเกมส์ ซึ่งโรงพยาบาลราชวิถีต้องรับผิดชอบในจัดตั้งคลีนิคในหมู่บ้านนักกีฬา และศูนย์กู้ชีพ “นรนทร” ต้องรับชอบเรื่องAmbulance ทั้งในหมู่บ้านนักกีฬาและในสนามการแข่งขัน สถานการณ์บีบบังคับให้ฉันต้องทำการบ้านอย่างหนัก โดยมีสถานการณ์ต่างๆเหล่านั้นเป็นโจทย์ให้ต้องคิด ฉันรู้สึกว่า ตัวเองเหมือนเด็กอนุบาลแต่ต้องมาทำงานระดับชาติ แต่โชคดีที่โจทย์เหล่านี้ ได้ถูกอาจารย์สมชายตีโจทย์จนแตก และตอบโจทย์ได้อย่างครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนการเตรียมพร้อมด้านการแพทย์ การบริหารจัดการระบบAmbulance ให้เชื่อมโยงกับคลีนิคในหมู่บ้านนักกีฬาและสนามการแข่งขัน การประสานงานกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง การซ้อมแผนเพื่อสู่การปฏิบัติงานได้จริง ฉันยังจำได้ว่า ฉันพร้อมกับทีมงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเดินทางไปกับอาจารย์หลายครั้งก่อนจะถึงวันจริง เพื่อดูสถานที่ วิเคราะห์ปัญหาอุปสรรค ที่หมู่บ้านนักกีฬา สนามหัวหมาก สนามเมืองทองธานี ทั้งในวันเวลาราชการและนอกวันเวลาราชการ ซึ่งเราต้องกลับถึงโรงพยาบาลในเวลาค่ำมืดบ่อยๆ เพื่อวางแผนต่างๆก่อนวันจริง อาจารย์สอนให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างเครือข่ายในการทำงานซึ่งก็คือหัวใจสำคัญในงาน EMS อาจารย์ได้สร้างเครือข่ายร่วมกับโรงพยาบาลเลิดสิน นพรัตนราชธานี สภากาชาด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกหลายแห่ง นับเป็นครั้งแรกที่ฉันได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆอีกหลายๆคน ซึ่งเราทุกคนยังคงรักษามิตรภาพตั้งแต่ครั้งนั้นมาจนถึงปัจจุบัน จะมีอะไรที่มีค่ามากกว่าคำว่า “เพื่อน” เพราะมิตรภาพไม่มีโครงสร้าง ฉะนั้นเราจึงยังคงติดต่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่เสมอ ไม่ว่าใครจะอยู่ในตำแหน่งหรืออยู่ในสถานภาพเช่นไร และอีกทั้งหลายทั้งปวงที่ฉันไม่อาจเรียบเรียงได้หมด ล้วนเป็นต้นทุนที่อาจารย์ได้มอบให้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้ฉันสามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายในพระราชพิธี การประชุม หรือเหตุการณ์สำคัญๆ ในประเทศไทย ได้อย่างไม่หนักใจเหมือนแต่ก่อน โดยทุกๆครั้งที่ได้ทำงานกับอาจารย์ ฉันรู้สึกว่าได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆที่เป็นประโยชน์อย่างไม่รู้จบสิ้น ถ้ามีปัญหาอุปสรรคใดๆ อาจารย์ก็มักจะมีคำตอบให้เสมอถึงแม้บางครั้งจะเถียงกันบ้าง แต่ก็ได้ข้อสรุปที่เป็นที่พอใจด้วยกันทุกฝ่าย อาจารย์เป็นคนมีหลักการและมีการวางแผนในการทำงานได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้งานที่ออกมามีทิศทางและมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ซึ่งฉันได้นำมาเป็นแบบอย่างในการทำงานจนถึงปัจจุบัน อาจารย์มักคิดโครงการใหม่ๆออกมาอยู่เสมอๆ และด้วยความคิดที่โง่เขลา ทำให้ฉันรู้สึกเครียดในระยะแรกๆว่าทำไมมันมีมากมายก่ายกองเสียจริง จนเมื่อเวลาผ่านไป ฉันจึงเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองว่า สิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นประสบการณ์ และโอกาสในการทำงาน ที่อาจารย์หยิบยื่นให้โดยที่ฉันไม่รู้ตัว และเมื่อมันผ่านเข้ามาในชีวิตเราแล้ว ถ้าเราไม่ไขว่คว้ามัน มันก็คงจะผ่านไปแล้วไม่มีวันที่จะย้อนกลับมาอีกเลย จึงถือได้ว่า อาจารย์เป็นผู้ที่ให้โอกาสในเรื่องการทำงานกับฉันด้วย ทำให้ฉันได้ใช้โอกาสนั้นเรียนรู้ทั้งสิ่งผิด สิ่งถูก และสั่งสมประสบการณ์จนเป็นตัวเป็นตนในงาน EMS มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งต้องขอขอบพระคุณอาจารย์ที่เป็นครู EMS คนแรกของฉันอีกหลายๆครั้ง และขอขอบคุณผู้บริหารทางการพยาบาลทุกๆท่านที่สนับสนุนเวลาให้ฉันซึ่งเป็นพยาบาล ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับอาจารย์สมชายนานถึง 14 ปี จนฉันได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างดังที่ได้เล่ามาทั้งหมด

สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นในตัวอาจารย์สมชาย คือการมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล เรื่องที่สามารถเห็นได้อย่างชัดเจนคือ เมื่อครั้งที่อาจารย์ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์ด้านอุบัติเหตุและสาธารณภัย อาจารย์เป็นผู้เสนอแนะและสนับสนุนให้มีการจัดหารถพยาบาลฉุกเฉินที่เป็นรถเบ็นซ์คันใหญ่ให้โรงพยาบาลราชวิถี ใช้ในการปฏิบัติงานการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์เพื่อให้สมศักดิ์ศรีที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ทั้งยังเผื่อไปถึงโรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี โรงพยาบาลละ 1 คันอีกด้วย ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีโรงพยาบาลใดมีรถแบบนี้มาก่อน ทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความภาคภูมิใจ ดูมีสง่าราศีกับหน่วยงานและสมศักดิ์ศรีกับประเทศไทยในฐานะที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ซึ่งปัจจุบันหลายโรงพยาบาลได้หันมาให้ความสำคัญในการใช้รถลักษณะนี้กันเป็นจำนวนมาก นับเป็นเรื่องหนึ่งที่สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของอาจารย์ได้เป็นอย่างดี อาจารย์ไม่ได้มองอะไรเป็นส่วนๆ แต่มองอย่างเป็นระบบ หลายสิ่งหลายอย่างอาจารย์ได้คิดทำมาตั้งแต่10กว่าปีที่แล้ว เช่น การทำหลักสูตรและการฝึกอบรมต่างๆ เช่นหลักสูตร FR, EMT-B, พยาบาลกู้ชีพ ฯลฯ ที่จัดขึ้นที่โรงพยาบาลราชวิถีเป็นที่แรกในประเทศไทย ปัจจุบันได้ขยายผลและถูกกำหนดให้เป็นหลักสูตรมาตรฐานของบุคลากรในระบบ EMS แต่น่าน้อยใจ ที่ไม่ได้มีการอ้างอิงว่า หลักสูตรนี้ มีที่มาที่ไปจากไหน นี่แหละนะ คนเริ่มต้นมักจะถูกลืม ซึ่งก็เป็นสัจธรรมของชีวิต นอกจากนี้ ท่านยังคิดริเริ่มทำคู่มือในการรับแจ้งเหตุ และวีดีทัศน์สื่อการเรียนการสอนสำหรับเจ้าหน้าที่กู้ชีพในระบบ EMS ซึ่งได้แจกจ่ายไปทั่วประเทศเมื่อ10 กว่าปีที่แล้ว อีกทั้งยังคงถูกนำมาใช้สำหรับการเรียนการสอนในปัจจุบัน อาจารย์มองอะไรอย่างเป็นระบบ แม้กระทั่งการก่อตั้งสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย หรือการจัดให้มีการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฉุกเฉินขี้น ล่าสุด อาจารย์เสนอแนะให้ฉันทำหลักสูตรการอบรบการบริหารจัดการหน่วย EMS สำหรับพยาบาลขึ้น ด้วยเหตุผลที่ว่า พยาบาลเป็นกำลังหลักในการบริหารจัดการระบบ EMS มาตั้งแต่ระยะบุกเบิกจนถึงปัจจุบัน และยังไม่เคยมีหลักสูตรนี้มาก่อนในเมืองไทย ฉันรับแนวความคิดนี้มาสานต่อ และได้จัดทำหลักสูตรดังกล่าวจนแล้วเสร็จ พร้อมทั้งได้จัดให้มีการอบรบในรุ่นที่ 1 ในเดือนพฤษภาคม 2552 ที่ผ่านมา จากการประเมินผลของผู้เข้าอบรมมีความเห็นว่าเป็นหลักสูตรที่บรรลุวัตถุประสงค์ในระดับที่ดี-ดีมากเกิน 80 % และหลักสูตรนี้ ได้ถูกบรรจุไว้ในแผนของโรงพยาบาลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งได้มีการพูดคุยกับสภาการพยาบาลเพื่อพัฒนาให้เป็นหลักสูตรเฉพาะทางของพยาบาลในอนาคต สิ่งเหล่านี้ ล้วนสะท้อนถึงการมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลของอาจารย์ได้เป็นอย่างดี หลายสิ่งหลายอย่างที่อาจารย์คิดและทำเมื่อ 10กว่าปีที่ผ่านมา แต่พวกเราคนรุ่นใหม่อาจเพิ่งตามทันและเห็นด้วยในความคิดของอาจารย์ จนถือเป็นแบบอย่างในปัจจุบันก็ต่อเมื่อเวลาผ่านพ้นมาแล้วถึง 10 กว่าปี และถ้าจะว่าไปแล้ว ยังมีอีกหลายๆเรื่องที่ไม่อาจจะกล่าวได้หมดในที่นี้

ในปีพ.ศ. 2545 ซึ่งเป็นระยะที่ได้มีการจัดตั้งสำนักงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน หรือที่เรียกว่า ศูนย์นเรนทร กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งอาจารย์สมชาย กาญจนสุต ได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการคนแรก ช่วงนั้นเป็นช่วงที่สำนักงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อาจารย์สมชายจึงได้จัดตั้งโครงการนำร่อง EMS ใน 7 จังหวัด และใน 15 จังหวัดในระยะต่อมา ช่วงนั้นพวกเราชาวพยาบาลรุ่นบุกเบิกในหลายๆจังหวัดรวมถึงตัวฉันด้วย ต้องเดินทางไปในแต่ละจังหวัด โดยมีอาจารย์เป็นหัวหน้าทีม นำทีมพวกเราซึ่งมีพยาบาลในหลายจังหวัดที่เป็นเครือข่าย เพื่อศึกษาระบบ EMS ที่เหมาะสมในประเทศไทยว่าสมควรจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไรในบริบทของประเทศไทย ทำให้ฉันได้เครือข่ายในต่างจังหวัดมากมาย ซึ่งพวกเราทุกคนยังพูดถึงบรรยากาศในสมัยที่พวกเราร่วมหัวจมท้ายกันอย่างไม่มีวันลืม ในยามที่เราได้พบปะกันในการประชุมต่างๆ ในที่สุดระบบ EMS ได้ถูกจัดให้เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล โดยรัฐบาลจัดให้มีระบบEMSครอบคลุมในทุกจังหวัด แต่ก็น่าเสียดายที่ในช่วงเวลานั้น อาจารย์ไม่ได้มีโอกาสเป็นผู้บริหารระบบEMS ของประเทศไทยเสียแล้ว ด้วยเหตุผลบางประการที่ยังคงไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนมาจนถึงปัจจุบัน จนกระทั่งเมื่อปีพ.ศ. 2551 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีอีกครั้ง ที่อาจารย์สมชาย ได้รับเลือกตั้งให้เป็นคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ฉันได้ทำงานกับอาจารย์ บางครั้งเราก็มีข้อโต้แย้งกันบ้าง หรือฉันอาจจะทำอะไรขัดใจอาจารย์บ้าง และก็น่าจะขัดใจอาจารย์มากกว่าผู้อื่นเสียด้วย เพราะฉันทำงานกับอาจารย์เป็นเวลานานกว่าผู้อื่น ย่อมเป็นธรรมดาที่จะต้องมีเรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องกัน และมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันมากกว่าผู้อื่น พูดภาษาสถิติก็คือฉันมีข้อโต้แย้งกับอาจารย์บ่อยมากกว่าผู้อื่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ว่าเข้าไปนั่น..จะได้ดูน่าเชื่อถือหน่อย อาจารย์เป็นคนโกรธง่ายหายเร็ว และดูเหมือนว่าเวลาหายโกรธ ก็จะใจอ่อน และสงสารคนที่ตัวเองโกรธอีกด้วย (บางคนว่าอาจารย์เป็นคน “ดื้อรั้น” จริงหรือไม่จริง ฉันไม่ขอตอบ ให้ไปถามอาจารย์เอง) แต่ที่สำคัญ ฉันไม่เคยเห็นอาจารย์เคยคิดร้ายอาฆาตใคร จึงเป็นความโชคดีของฉัน ไม่เช่นนั้น ฉันคงเป็นคนแรกที่ต้องถูกอาจารย์อาฆาตบ่อยๆ เพราะทำให้อาจารย์โกรธบ่อยกว่าผู้อื่น ฉันจึงรอดตัวไป ทุกครั้งที่ฉันได้โต้แย้งหรือขัดใจอาจารย์ ก็เพราะฉันมีหลักการในใจว่า ถ้าอาจารย์เป็นรัฐบาล ฉันก็ต้องเป็นฝ่ายค้าน เพื่อให้รัฐบาลเห็นมุมมองได้อย่างรอบด้าน จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็แล้วแต่รัฐบาล และฝ่ายค้านอย่างฉันก็ขอทำหน้าที่ให้ดีที่สุดก็เท่านั้น ผลจะเป็นอย่างไรจะได้ไม่มาเสียใจในภายหลัง และด้วยความคิดของฉันที่ว่า ถ้าฉันทำงานกับใคร ฉันควรทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านบ้างในเวลาที่เหมาะสม ความคิดเช่นนี้ อาจจะทำให้ฉันต้องตกอยู่ในที่นั่งลำบาก เพราะถ้าฉันทำงานในรัฐบาลที่ไม่ต้องการให้มีฝ่ายค้านเลย รัฐบาลนั้นก็คงไม่อยากให้ฉันมาค้าน จึงอยากจะบอกกับรัฐบาลไม่ว่าสมัยไหนๆ ขอได้โปรดทบทวนดูให้ดีว่า คงไม่มีลูกน้องคนไหนที่อยากจะเป็นฝ่ายค้านหรือทะเลาะกับหัวหน้าหรอก แล้วทำไมเขาจึงค้านล่ะ นั่นก็น่าจะแสดงได้ว่า ข้อมูลที่ค้านนั้นคงมีความสำคัญและเป็นประโยชน์ถ้าได้นำมาทบทวน ฉะนั้นลองทบทวนและนำมาประกอบการพิจารณา อาจช่วยให้การตัดสินใจสุดท้าย เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างรอบด้าน

ในวาระที่อาจารย์สมชาย กาญจนสุต เกษียณอายุราชการ ฉันขอใช้โอกาสนี้บอกอาจารย์ ว่า นอกจากคนไข้, ครูและพี่ๆพยาบาลที่อบรมสั่งสอนให้ฉันเรียนรู้งาน ด้าน ER มา 16 ปีแล้ว ฉันยังมีอาจารย์ (หมอสมชาย )อีกคนหนึ่ง ที่เป็นครูคนแรกที่สอนงานด้าน EMSให้ฉัน อาจารย์สอนฉันทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้ได้เรียนรู้งาน EMS มายาวนานถึง 14 ปี ฉันขอบพระคุณในทุกสิ่งทุกอย่างที่อาจารย์ได้มอบให้ฉันตลอดระยะเวลาที่ฉันได้ทำงานด้วย ขอบคุณทุกแรงกดดันทั้งเชิงลบและเชิงบวกที่อาจารย์ทำให้ฉันต้องมุ่งมั่นและเรียนรู้งานด้วยความเพียรพยายาม ความมุมานะ อดทน และอดกลั้น ฉันขอโทษและขออโหสิกรรมในสิ่งที่ฉันอาจได้เคยล่วงเกินอาจารย์ทั้งกาย วาจา ใจ ทั้งที่เจตนาและไม่ได้เจตนา

สุดท้ายฉันอยากจะบอกอาจารย์ว่า ต้น EMS ที่อาจารย์ได้พากเพียรดูแลมาเป็นอย่างดีจนเจริญเติบโตเป็นต้นกล้าEMSในปัจจุบัน ที่ขยายพันธุ์ไปทั่วประเทศ บัดนี้พวกเราทุกคนที่เกี่ยวข้อง จะช่วยกันดูแล และสานต่องานจากอาจารย์ให้ดีที่สุดอย่างเต็มความสามารถ ขออาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลก และคุณความดีที่อาจารย์ได้สั่งสมมา จงดลบันดาลให้อาจารย์มีสุขภาพแข็งแรง มีสติปัญญาที่เฉียบแหลม แตกฉานยิ่งขึ้น เพื่อเป็นแรงผลักดัน เป็นที่ปรึกษา และเป็นหลักชัย ให้คนรุ่นใหม่ ในการพัฒนางาน EMS ให้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ในอนาคต และเมื่อถึงเวลานั้น อาจารย์จะได้เห็นและชื่นชมกับการเจริญเติบโตของต้น EMS ที่อาจารย์ได้เพียรพยายาม และทุ่มเทให้กับงาน EMS ในทุกๆด้าน มาเกือบตลอดชีวิตในการรับราชการของอาจารย์

Navigation