Trauma System

ไม่รู้ว่าทุกคน เคยรู้สึกไหมว่า Trauma system คืออะไร เนื่องจากคำว่า Trauma system เป็นคำที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้วอย่างต่อเนื่อง แต่ในความเป็นจริง Trauma system ยังเป็นคำที่มีความหมายค่อนข้างกว้าง ครอบคลุม และละเอียดอ่อน

(อ่านแล้วเริ่มรู้สึกแปลก ๆ ไหมครับ ?)

ทั้งหมดที่จะเล่าสู่กันฟังในครั้งนี้ เป็น trauma system ที่มิได้แปลมาจากหนังสือเล่มไหน ๆ แต่เป็น trauma system ตามความเข้าใจของผมเอง เพราะฉะนั้น ให้ผู้อ่านถือซะว่าเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดีกว่านะครับ อย่าเรียกว่าเป็นวิชาการเลยครับ

Inclusive Trauma System แปลเป็นภาษาไทยอย่างตรงไปตรงมาว่า ระบบที่ใช้ในการดูแลภาวะการบาดเจ็บอย่างครอบคลุม ซึ่งเมื่อสังเกตุจากระบบสาธารณสุขโดยทั่วไปของประเทศไทยแล้ว ระบบการดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บนั้น เริ่มต้นจากการที่ผู้บาดเจ็บมาถึงโรงพยาบาล แล้วได้รับการดูแลรักษาโดยแพทย์ ณ ห้องฉุกเฉิน แล้วจึงส่งต่อถึงมือแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับการรักษาอย่างเฉพาะเจาะจงต่อไป แต่ Inclusive Trauma

System ได้รวมความหมายกว้างกว่า ครอบคลุมกว่านั้น กล่าวคือ

๑.การป้องกันการเกิดอุบัติการณ์ เพื่อมิให้เกิดอุบัติการณ์นั้น ๆ ขึ้น

๒.ป้องกันให้อุบัติการณ์นั้น มีความรุนแรงน้อยที่สุด

๓.ผู้ได้รับบาดเจ็บ ได้รับบาดเจ็บน้อยที่สุด

๔.ผู้ได้รับบาดเจ็บ ได้รับการดูแลอย่างรวดเร็ว และถูกต้องเหมาะสม ซึ่งหมายถึง

- การรับรู้การเกิดอุบัติการณ์อย่างรวดเร็ว

- การแจ้งเหตุอย่างถูกต้อง

- การได้รับการช่วยเหลือ ณ จุดเกิดเหตุอย่างรวดเร็วเหมาะสม

- การนำส่งอย่างถูกวิธี และไปยังสถานที่ที่เหมาะสม

- ได้รับการดูแลรักษาอย่างเฉพาะเจาะจง

- การฟื้นฟูสมรรถภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ

๕.การป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำ

การป้องกันการเกิดอุบัติการณ์ การลดความรุนแรงของอุบัติการณ์ และการลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นกับผู้ได้รับบาดเจ็บนั้น จำเป็นต้องกล่าวถึงร่วมกันเนื่องจาก ทั้ง ๓ ส่วนเป็นการทำงานร่วมกันของหลาย ๆ ฝ่ายที่จะเข้ามาเกี่ยวข้อง คือ โรงพยาบาล หรือระบบสาธารณสุข มีศักยภาพในการรับรู้ปัญหาแบบองค์รวม คือทั้งในด้านของผู้ได้รับบาดเจ็บ (อายุ, เพศ, ความรุนแรง, ปัจจัยร่วมที่เกี่ยวข้อง เช่นการรับประทานยา), ในด้านความประพฤติ การใช้อุปกรณ์ป้องกัน, สาเหตุของการเกิดอุบัติการณ์, ระยะเวลาการเกิดอุบัติการณ์, สถานที่ที่เกิดอุบัติการณ์, ความถี่ในการเกิดอุบัติการณ์โดยสามารถแยกออกเป็นแต่ละพื้นที่ได้ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ การทางจังหวัด หน่วยงานราชการประจำจังหวัด ฯลฯ ซึ่งในความเป็นจริง การที่จะประสานการปฏิบัติงานร่วมกันของหน่วยงานที่ต่างสายงานกันนั้น จำเป็นจะต้องมีขั้นตอนทางระบบราชการปริมาณมาก และอาจก่อให้เกิดการล่าช้าในการประสานงาน เป็นผลให้การปฏิบัติประสบความสำเร็จช้า หรือบางครั้งอาจถึงกับไม่ประสบความสำเร็จเลย เพราะฉะนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่ก่อให้เกิดการล่าช้า การจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบงานที่ต้องมีการประสานในหลายหน่วยงาน เป็นปัจจัยให้

การปฏิบัติงานประสบผลสำเร็จมากขึ้น ในพื้นที่ต่างจังหวัดได้มีการจัดตั้งหน่วยงานที่อยู่ในความดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยมีคณะกรรมการเป็นผู้แทนจากทุกหน่วยงานที่คาดว่าจะเกี่ยวข้องทั้งส่วนราชการ กลุ่มพ่อค้า หน่วยงานเอกชน เพื่อให้เกิดการวางแผน การดำเนินงาน และติดตามการปฏิบัติงานที่เป็นการแก้ปัญหาอุบัติการณ์การบาดเจ็บของประชาชน หรืออาจใช้หน่วยงานย่อยของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.)ระดับจังหวัด, คณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ก็จะทำให้เกิดความราบรื่นในการปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ และเกิดความต่อเนื่องในการวางแผนงานสำหรับในช่วงเวลาต่อ ๆ ไปด้วย เช่น การปรับปรุงสภาพพื้นผิวการจราจรในส่วนที่มีการชำรุดและเป็นสถานที่เกิดอุบัติเหตุเป็นประจำ, การวางแผนรับมืออุบัติเหตุในช่วงเทศกาล, การรณรงค์ป้องกันเพื่อลดความรุนแรงของอุบัติเหตุ. การตั้งด่านของเจ้าหน้าที่ตำรวจ, ฯลฯ หรือในระดับที่ย่อยลงไปอีกก็คือ องค์การบริหารส่วนตำบลหรือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์

บางครั้ง งานในลักษณะเหล่านี้ เป็นงานที่ยากและท้าทาย เราในฐานะบุคลากรในระบบสาธารณสุข ก็สามารถวางตัวเป็นผู้ที่กระตุ้นให้เกิดระบบแบบนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นในแง่มุมของเจ้าทุกข์ (ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการที่มีผู้บาดเจ็บปริมาณมาก) หรือผู้ที่เห็นข้อมูลอยู่เป็นประจำและสามารถระบุความรุนแรง และความทุกข์ยากของประชาชนได้อย่างชัดเจน

ด้านการให้การดูแลผู้บาดเจ็บ เริ่มตั้งแต่การประสบเหตุและการแจ้งเหตุโดยประชาชน หรือผู้ประสบเหตุอย่างถูกต้องเหมาะสม จะทำให้เจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุและสั่งการสามารถตัดสินใจส่งหน่วยปฏิบัติการไปยังพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม ในส่วนนี้โดยมากเป็นความรับผิดชอบของโรงพยาบาล หน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินทั้งในระดับจังหวัด หรือระดับอำเภอ ซึ่งระบบที่จะนำมาใช้นั้น เป็นระบบของแต่ละจังหวัดว่ามีการวางระบบการทำงานของระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินไว้อย่างไร และไม่ว่าจะเป็นหน่วยกู้ชีพขั้นสูง หรือหน่วยกู้ชีพขั้นพื้นฐาน ก็จะต้องให้การช่วยเหลือ ณ จุดเกิดเหตุอย่างถูกต้อง สามารถนำผู้บาดเจ็บส่งไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด และมีศักยภาพที่เพียงพอที่จะรักษาได้

การได้รับการรักษาอย่างเฉพาะเจาะจงนั้น อาจกระทำโดยแพทย์ทั่วไป แพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์ฉุกเฉิน หรือแพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมอุบัติเหตุนั้น ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของผู้บาดเจ็บ ศักยภาพของโรงพยาบาล ความจำเป็นเร่งด่วนของผู้บาดเจ็บ และปัจจัยอีกหลากหลายประการ และหลังจากผู้บาดเจ็บได้รับการรักษาจนพ้นภาวะอันตราย จนกระทั่งสามารถกลับบ้านได้อย่างปลอดภัยแล้ว ผู้ได้รับบาดเจ็บยังต้องได้รับการดูแลโดยการทำกายภาพบำบัด ทั้งทางร่างกายและทางจิดใจ เพื่อให้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ดังเดิมอีกด้วย

ผลการปฏิบัติงานในลักษณะดังที่ได้กล่าวถึง ในแต่ละครั้ง ข้อมูลจะถูกเก็บไว้เพื่อใช้ในการวางแผนป้องกันสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต รวมทั้งยังสามารถนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาบ้านเมืองในแง่มุมอื่น ๆ ได้อีกด้วย

ที่กล่าวมา เป็นมุมมองที่มีต่อ Inclusive Trauma System เป็นการส่วนตัว โดยพยายามนึกถึงความเป็นไปได้ในการปรับใช้จริงในระดับจังหวัด แต่ถึงอย่างไรก็แล้วแต่ ความเข้าใจดังกล่าว ก็ยังต้องการความรู้ ประสบการณ์เพิ่มเติมอีกเป็นจำนวนมาก และยังคงรอให้ผู้มีความรู้ หรือผู้อ่านท่านอื่น ๆ ร่วมแสดงความคิดตามแต่ประสบการณ์ของแต่ละคน ซึ่งอาจเป็นการนำมาซึ่งการพัฒนา Trauma system ในอนาคตอันใกล้ก็ได้ครับ

ใครจะรู้ ?

Tags:

Navigation