ที่มาของความทรงจำในอดีต
ณ ตึกที่ตั้งด้านหน้าโรงพยาบาลราชวิถี ฝั่งอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อันเป็นที่ตั้งของศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” จะมีใครสักกี่คน ที่จะรู้ว่าตึกนี้เคยเป็นห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลเมื่อ 18 ปีที่แล้ว, 18 ปีที่ได้นำบุคคลในหลายหน่วยงานให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” เพื่อบุกเบิกและพัฒนางานรักษาพยาบาล ณ จุดเกิดเหตุ ที่ยังไม่เคยมีในประเทศไทยมาก่อน, 18 ปีที่ได้เกิดเรื่องราว ทั้งทุกข์ สุข ตื่นเต้นและท้าทาย ให้เราได้จดจำ, 18 ปีของการสร้างตำนาน EMS ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และ 18 ปีที่ต้องก้าวเดินต่อไปเพื่อถักทอสานตำนานศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” ให้กับคนรุ่นใหม่ในอนาคต 18 ปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ พ.ศ. 2556 บุคคลในตำนานความทรงจำของศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” ต่างแยกย้ายออกจากโรงพยาบาลไปตามเส้นทางชีวิตของแต่ละคน บ้างเกษียณอายุราชการ บ้างลาออกจากราชการ,ย้ายที่ทำงาน หรือบ้างก็ล้มหายตายจากไปตามสัจธรรมของชีวิต พร้อมๆกับการแทนที่ด้วยคนรุ่นใหม่ คงเหลือบุคคลที่เกี่ยวข้องในสมัยนั้นไม่กี่คนที่ยังคงทำงานอยู่ในโรงพยาบาลราชวิถีรวมถึงตัวฉันด้วย แม้เวลาจะผ่านไปนานถึง 18 ปี แต่เหตุการณ์และตัวละครทุกตัวยังคงโดดเด่นโลดแล่นอยู่ในใจของฉันทุกครั้งที่นึกถึง ฉันเชื่อว่าเรื่องราวแห่งตำนานความทรงจำของศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” คงยังอยู่ในใจของผู้ที่เกี่ยวข้องที่ร่วมบุกเบิกหน่วยงานนี้มาด้วยกันอย่างไม่มีวันลืม หากแต่ว่าตำนานความทรงจำเหล่านี้ถ้าไม่ได้มีการจดบันทึก สักวันหนึ่งคงต้องเลือนหายไปพร้อมกับกาลเวลาและการจากไปของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ฉันจึงถือโอกาสครบรอบ 18 ปีศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” โรงพยาบาลราชวิถี ในวันที่ 10 มีนาคม 2556 นี้ รื้อฟื้นเรื่องราวความทรงจำให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เพื่อเราจะได้ร่วมรำลึกถึงเรื่องราวในอดีต และเพื่อเป็นบันทึกความทรงจำของหน่วยงานให้คนรุ่นหลังได้รับรู้และเรียนรู้ ไม่ให้ตำนานความทรงจำเหล่านี้เลือนหายไปตามกาลเวลา
ระยะก่อตั้งศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” โรงพยาบาลราชวิถี
ในอดีต ระบบการรักษาพยาบาล ณ จุดเกิดเหตุในประเทศไทยยังไม่เป็นระบบ ไม่มีบุคลากรที่ปฏิบัติงานในรถพยาบาลฉุกเฉินโดยตรง ไม่มีหลักสูตรและการฝึกอบรมบุคลากรที่ปฏิบัติงานในรถพยาบาลฉุกเฉิน รถพยาบาลฉุกเฉินและอุปกรณ์การแพทย์ยังไม่มีมาตรฐาน ไม่มีงบประมาณสนับสนุน ต่างคนต่างทำ โดยมากภาคเอกชนในนามของมูลนิธิหรือชมรมในรูปแบบอาสาสมัครเป็นผู้ทำงานด้านนี้ ภาครัฐยังไม่มีนโยบายและยังเข้าไปดูแลไม่ทั่วถึง การช่วยเหลือจากมูลนิธิจึงเป็นช่องทางที่ไม่มีทางเลือกของผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน ก่อให้เกิดการสูญเสียโดยเฉพาะการตายจากเหตุที่ไม่สมควร เกิดความพิการและภาวะแทรกซ้อนจากการขาดองค์ความรู้และประสบการณ์ เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าผลที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนปฏิเสธไม่ได้คือศรัทธาที่ประชาชนมีให้มูลนิธิ การช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินของมูลนิธิ จึงถือได้ว่าเป็นภูมิปัญญาของชุมชน ที่ต้องการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการช่วยเหลือ ณ จุดเกิดเหตุในประเทศไทยอีกด้วย
จากเหตุผลดังกล่าว จึงได้มีความพยายามจากหลายหน่วยงานในการจัดให้มีระบบการรักษาพยาบาล ณ จุดเกิดเหตุ ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์ ได้มีนโยบายให้จัดทำโครงการนำร่องบริการการรักษาพยาบาล ณ. จุดเกิดเหตุ ที่โรงพยาบาลราชวิถี ในวันที่ 10 มีนาคม 2538 และได้อัญเชิญพระนามของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร องค์สถาปนากระทรวงสาธารณสุข มาเป็นชื่อของหน่วยงาน ในนาม ศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” โรงพยาบาลราชวิถี เพื่อให้บริการรักษาพยาบาล ณ จุดเกิดเหตุ เป็นการคืนกำไรให้กับสังคม โดยไม่คิดค่าบริการ วัตถุประสงค์เพื่อลดการตายที่ไม่สมควร และภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากสถาบันการแพทย์ด้านอุบัติเหตุและสาธารณภัย (สอส), มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง, มูลนิธิร่วมกตัญญู และที่สำคัญคือมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี ที่สนับสนุนงบประมาณมาโดยตลอด
หมายเหตุ : ปัจจุบันไม่มีหน่วยงาน สอส. ในกระทรวงสาธารณสุข สืบเนื่องจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของหน่วยงานราชการ
วันวานของศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร”
ผู้อำนวยการในสมัยที่ก่อตั้งคือ นายแพทย์ทรงสรรค์ สุธาธรรม, โดยมีนายแพทย์สมชาย กาญจนสุตเป็นหัวหน้ากลุ่มงานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ซึ่งนับเป็นผู้บุกเบิกคนสำคัญของระบบ EMS ในประเทศไทย มีหัวหน้าพยาบาล คืออาจารย์จารุวรรณ เสวกวรรณ พร้อมทั้งผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องที่ไม่อาจเอ่ยนามได้หมด มีพิธีเปิดศูนย์อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2538 ซึ่งฉันได้รับมอบหมายให้ร่วมแสดงสถานการณ์จำลองในการช่วยเหลือผู้ป่วย ณ จุดเกิดเหตุ โดยแสดงเป็นพยาบาลกู้ชีพร่วมทีมกับแพทย์ และเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิ เมื่อพิธีเปิดเสร็จสิ้น ฉันถูกขอร้องให้ปฏิบัติงานเป็นพยาบาลกู้ชีพในเวรเช้าของวันที่ 10 มีนาคม 2538 นั่นเอง อันเป็นเวรวันแรกและเป็นพยาบาลคนแรกที่ต้องทำงานในวันเปิดศูนย์อย่างเป็นทางการ เพราะไม่มีพยาบาลคนใดลงเวรเลย สมัยนั้นใช้อัตรากำลังพยาบาล Part time ซึ่งยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน
ที่ตั้ง ในอดีต ไม่มีรั้วรอบขอบชิด ห้องวิทยุเป็นห้องการเงินและห้องยาเก่าที่อยู่ด้านหน้าห้องฉุกเฉิน พื้นที่ที่ผู้ป่วยนั่งรอพบแพทย์ ได้ถูกดัดแปลงเป็นพื้นที่เอนกประสงค์ โดยใช้เป็นห้องรับประทานอาหาร ใช้นั่งหรือนอนรวมพล standby เพื่อรอออกปฏิบัติงาน และยังใช้เป็นห้องฝึกอบรมอีกด้วย เวลากลางคืนจะมียุงมากมายบินมาเป็นเพื่อน ทำงานไป ตบยุงไป สมัยนั้นมีแพทย์แต่ละแผนกหมุนเวียนกันมาทำงาน มีพยาบาลผู้รับผิดชอบโดยตรงคือคุณยุพดี เสรีรัตน หรือพี่อ้อยที่ใครๆรู้จัก มีพยาบาลอาสาสมัครจากตึกต่างๆ มาปฏิบัติงาน part time ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งและร่วมกตัญญู และทั้ง 2 มูลนิธิยังได้สนับสนุนรถพยาบาลฉุกเฉินมูลนิธิละ 1 คัน จนใครๆแปลกใจว่าทำไมมูลนิธิทั้งสอง จึงมาทำงานร่วมกันได้
บรรยากาศการทำงาน ไม่มีห้องหับเป็นสัดส่วน เรามักจะมารวมตัวกันในพื้นที่อเนกประสงค์ที่เป็นพื้นที่ด้านหน้าของศูนย์ บางครั้งทีมกู้ชีพถูกหลอก คือเมื่อออกไปก็ไม่พบบ้านผู้ป่วย แต่เราก็คิดเสียว่า เราออกไปแสดงตัวตนว่า เมืองไทยมีรถพยาบาลฉุกเฉินออกมาช่วยประชาชน เหมือนเมืองนอกแล้วนะ ชาวบ้านก็ฮือฮากันว่า เดี๋ยวนี้มีบริการแบบนี้แล้วหรือ เท่ากับเป็นการประชาสัมพันธ์หน่วยงานไปในตัว และเพราะเป็นงานใหม่ในเมืองไทย เวลารถพยาบาลนำผู้ป่วยมาที่ห้องฉุกเฉิน ทีมกู้ชีพที่ไปรับผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงยังตื้นเต้น เข็นผู้ป่วยลักษณะกึ่งเดินกึ่งวิ่งพร้อมส่งเสียงดังโหวกเหวกมายังห้องฉุกเฉิน ทำให้ได้บรรยากาศแบบอึกทึกไปอีกแบบหนึ่ง ปัจจุบันไม่ค่อยมีบรรยากาศแบบนี้ให้เห็นแล้ว เพราะทีมกู้ชีพต่างพัฒนาตนเองจนเป็นมืออาชีพ ความตื้นเต้นจึงหมดไป
สมัยนั้น ไม่มีเงินทุนสนับสนุนหน่วยกู้ชีพ โชคดีที่มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถีให้การสนับสนุนเรื่องงบประมาณมาโดยตลอด ผู้บริหารในสมัยนั้นเวลาประชุมมักพูดกันเสมอว่า “ต่อไปอาจมีผู้มาศึกษาดูงานที่ศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” มากขึ้น ทุกคนจึงควรช่วยกันพัฒนาหน่วยงานให้เป็นต้นแบบเพื่อให้โรงพยาบาลต่างๆสนใจที่จะทำบ้าง” ตอนนั้นฉันยังเด็ก นึกไม่ออกเลยว่า จะมีใครมาดูงาน เพราะอะไรๆก็ไม่มีความลงตัวสักอย่าง
วันเปลี่ยนผ่านของศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” ในช่วงประมาณ พ.ศ. 2539 เป็นต้นมา
ที่ตั้งของศูนย์ มีรั้วรอบขอบชิดมากขึ้น มีห้องวิทยุ ห้องประชุม ห้องพักเจ้าหน้าที่ ห้องจัดเก็บอุปกรณ์การแพทย์ มีโทรทัศน์ เริ่มมีแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินหมุนเวียนมาปฏิบัติงาน ในปี พ.ศ.2540 ฉันได้รับมอบหมายให้มารับผิดชอบที่ศูนย์กู้ชีพอย่างเต็มตัว และยังคงใช้อัตรากำลังของพยาบาล part time ช่วงนั้นเจ้าหน้าที่จากป่อเต็กตึ๊งและร่วมกตัญญู ได้ถอนกำลังบางส่วนออกไปปฏิบัติงานในหน่วยงานกู้ชีพต้นสังกัดของตนเอง พร้อมๆกับในช่วงนั้น ศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” ได้รับมอบหมายภารกิจ ในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 และเฟสปิกเกมส์ ครั้งที่ 7 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ. 2541 และ 2542 โรงพยาบาลราชวิถีจึงต้องจัดหาเจ้าหน้าที่กู้ชีพที่ขึ้นตรงต่อโรงพยาบาล เพื่อสนับสนุนภารกิจที่สำคัญนี้ ทำให้เรามีเจ้าหน้าที่กู้ชีพในช่วงนี้หลายคนรวมถึงอาสาสมัครด้วย และต่อมามีการฝึกอบรมหลักสูตรเวชกรฉุกเฉินขั้นพื้นฐานหรือ EMT-B ให้กับเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ในปี พ.ศ. 2542 ซึ่งนับเป็นรุ่นแรกของประเทศไทย
เมื่อองค์ประกอบหลายอย่างเริ่มลงตัว ทำให้มีจำนวนผู้มาศึกษาดูงานมากขึ้น รวมถึงชาวต่างประเทศด้วย มีแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินจากอเมริกา เข้ามาแวะเยี่ยมชมศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” อยู่บ่อยๆ และชักชวนให้ก่อตั้งสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินขึ้นในประเทศไทย อาจารย์สมชาย กาญจนสุต จึงได้ชักชวนเหล่าแพทย์และพยาบาลที่ปฏิบัติงานด้านฉุกเฉินทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค มาร่วมประชุมปรึกษาหารือกันที่ศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” หลายครั้ง จนกระทั่งปี พ.ศ. 2542 เราจึงได้ยื่นหนังสือขอจัดตั้งสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทยขึ้น สมาคมฯนี้จึงเป็นสมาคมที่มีกรรมการบริหารเป็นทั้งแพทย์และพยาบาล นับได้ว่าศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” โรงพยาบาลราชวิถี เป็นสถานที่ที่ก่อกำเนิดสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน
วันนี้ของศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร”
ปัจจุบัน มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉินพ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นหลักประกันว่าประชาชนชาวไทยทุกคนจะได้รับการดูแลจากระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างมีมาตรฐาน ครอบคลุม เท่าเทียม และทั่วถึง ส่วนผู้ปฏิบัติงาน จะได้รับการเอาใจใส่ดูแลอย่างเป็นระบบ ในส่วนของกรุงเทพมหานคร มีศูนย์เอราวัณเป็นหน่วยงานรับผิดชอบจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน โดยมีศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” โรงพยาบาลราชวิถี เป็นหน่วยงานหนึ่งในพื้นที่โซน 8 ในระบบการแพทย์ฉุกเฉินของกรุงเทพมหานคร วันนี้ ศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” โรงพยาบาลราชวิถี ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาด้านต่างๆอย่างต่อเนื่อง โดยที่ตั้ง มีรั้วรอบขอบชิดแยกเป็นสัดส่วนทันสมัยขึ้น มีห้องวิทยุติดต่อสื่อสาร มีโทรทัศน์วงจรปิด ห้องประชุม ห้องรับประทานอาหาร ห้องทำงานของเจ้าหน้าที่กู้ชีพ ห้องเก็บอุปกรณ์การแพทย์ มีตู้พิพิธภัณฑ์เล็กๆของหน่วยงานจัดเก็บสิ่งของที่ควรจดจำ รถกู้ชีพมีสภาพเก่าแก่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เช่นเดียวกับสังขารของเจ้าหน้าที่ทุกคน ที่เปลี่ยนแปลงไปตามอายุขัยที่เพิ่มขึ้นเท่าๆกับอายุการใช้งานของรถกู้ชีพ แม้ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลง แต่หัวใจที่รักในงานกู้ชีพของเรายังคงเต็มเปี่ยมไม่เคยเปลี่ยน เราจึงอยู่กันมาได้จนถึงวันนี้ซึ่งนานถึง 18 ปี แม้บางคนจะมีการหมุนเวียนเข้า-ออกเพื่อไปประกอบอาชีพอื่น แต่ก็ยังมาเป็นอาสาสมัครและแวะเวียนมาเยี่ยมเยือนศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” อยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ด้วยความที่ยังมีจิตวิญญาณและสายเลือดของการเป็นกู้ชีพอยู่เต็มหัวใจ
ปัจจุบัน ภารกิจของศูนย์กู้ชีพ“นเรนทร” นอกจากต้องรับผิดชอบรักษาพยาบาล ณ จุดเกิดเหตุในพื้นที่รับผิดชอบแล้ว ยังได้รับมอบหมายภารกิจฉุกเฉินที่สำคัญๆของประเทศมาโดยตลอด ทำให้อัตรากำลังตึงตัวกว่าในอดีต แต่เราทุกคนก็สามารถช่วยกันจัดการให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี การช่วยเหลือประชาชนและการฝึกอบรมต่างๆยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง มีผู้มาศึกษาดูงาน,ฝึกอบรมและฝึกงานตลอดทั้งปี เราดีใจและภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนส่งเสริมและสรรค์สร้างบุคลากรด้าน EMS หลายต่อหลายรุ่น เพื่อออกไปรับใช้สังคมได้อย่างมีคุณภาพ
ความรู้สึกในวันนี้
18 ปีที่ผ่านมา บรรยากาศและเรื่องราวเก่าๆหมุนเวียนผ่านพ้นไปตามกาลเวลา พร้อมกับบรรยากาศและเรื่องราวใหม่ๆที่หมุนเวียนเข้ามาแทนที่ การบันทึกเรื่องราวเป็นภาพถ่ายหรือด้วยเทคโนโลยีใดๆคงเป็นสิ่งที่ทำได้ยากในสมัยนั้น แต่เครื่องบันทึกความทรงจำในสมองของฉันได้ทำหน้าที่ของมันอย่างดีเยี่ยมมาโดยตลอด ฉันมองเห็นภาพเรื่องราวต่างๆได้อย่างแม่นยำ ฉันรู้สึกโชคดีที่ได้มีโอกาสรับรู้และสัมผัสเรื่องราวเหล่านี้ด้วยตัวเองมาตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบัน ด้วยเครื่องบันทึกความทรงจำในสมองของฉัน ถึงแม้ว่าจะไม่มีภาพถ่ายหรือเทคโนโลยีใดๆเป็นตัวช่วย
ศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” ในอนาคต
ถ้าเปรียบเป็นมนุษย์ ระยะเวลา 18 ปีที่ผ่านมา ทำให้ศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” เติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น นับแต่คลอดมาเป็นทารก จนตั้งไข่ คลานได้ เดินได้ จูงและเดินไปกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ เรามีส่วนส่งเสริมและสรรค์สร้างบุคลากรในระบบ EMS มาหลายต่อหลายรุ่น เรารู้จักตัวตนของ EMS รู้จักเพื่อนและรู้จักตัวเองมากขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพียงเรื่องราวส่วนหนึ่งของถนนสาย EMS ซึ่งถนนสายนี้ยังยาวไกลนัก ระยะเวลา 18 ปี ทำให้เราได้เรียนรู้ที่จะเดินต่อไปด้วยความมั่นใจ ชาวนเรนทรทุกคน ต่างต้องมีวันแยกย้ายกันไป ด้วยเหตุผลของแต่ละบุคคล และตามกาลเวลาที่ไม่เคยมีอะไรแน่นอน ศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” โรงพยาบาลราชวิถี จะเป็นอย่างไรในอนาคต อยู่ที่ความมุ่งมั่นอย่างจริงจังและจริงใจ ในความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ของทุกคนที่กำลังเดินทางอยู่บนถนนสายนี้ เรามาช่วยกันเถอะ ช่วยกันสร้างเรื่องราวและความทรงจำดีๆ ให้คนรุ่นหลังได้รับทราบและเรียนรู้ และเพื่อให้เราทุกคนจดจำและภาคภูมิใจทุกครั้งที่เอ่ยถึงตำนานของ ศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” ว่าครั้งหนึ่ง เราเคยทำงานที่ศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” โรงพยาบาลราชวิถี
กิตติกรรมประกาศ
ขอบคุณโรงพยาบาลราชวิถีและผู้บริหารทุกท่านในทุกยุคทุกสมัย ที่ให้การสนับสนุนศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” โรงพยาบาลราชวิถี มาโดยตลอด ขอบคุณพี่ๆน้องๆ ทั้งแพทย์ พยาบาล อาสาสมัคร มูลนิธิ ตำรวจ และกัลยามิตรจากหน่วยงานต่างๆทุกท่าน ที่ไม่อาจเอ่ยนามได้หมด ที่ได้ร่วมทุกข์ ร่วมสุข มาด้วยกัน ขอบคุณผู้ที่อยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังในการบุกเบิกและพัฒนาหน่วยงาน ขอบคุณวันเวลาและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ที่ทำให้เราได้สั่งสมประสบการณ์และเรื่องราวความทรงจำดีๆบันทึกไว้เป็นตำนานเพื่อเก็บไว้ให้คนรุ่นหลัง ขอบคุณทุกแรงกดดันทั้งทางบวกและทางลบที่ทำให้เราได้เรียนรู้ถึงความอดทน อดกลั้น ฟันฝ่าปัญหาอุปสรรคต่างๆ จนเกิดภูมิคุ้มกัน ขอบคุณผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินทุกคนที่คอยเป็นครูตั้งโจทย์ให้เราได้ขบคิด ฝึกฝนและเรียนรู้ จนทำให้เราฉลาดขึ้น สามารถทำและตอบโจทย์ได้ สุดท้าย ขอบคุณศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” โรงพยาบาลราชวิถี ที่ทำให้เรารู้สึกดีใจและภาคภูมิใจทุกครั้งที่ได้เอ่ยถึงชื่อนี้