เมื่อท่านอ่านชื่อบทความนี้ โปรดอย่าได้คิดว่าเป็นรายการโทรทัศน์หรือภาพยนต์ ที่กำลังฮิตอยู่ในขณะนี้เสียล่ะ แต่จริง ๆ แล้วมันคือความทรงจำดี ๆ ตลอดระยะเวลา 16 ปี ของฉันที่ปฏิบัติงานในห้องฉุกเฉินของ โรงพยาบาลราชวิถี (ซึ่งปัจจุบันฉันได้รับมอบหมายให้มารับผิดชอบงาน EMS ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2540 เป็นต้นมา) แต่ความทรงจำทุกอย่างยังคงกระจ่างชัดตลอดเวลาที่นึกถึง ยิ่งเมื่อได้ยินเพลง 16 ปีแห่งความหลัง และเพลงวันวานยังหวานอยู่ (อย่าว่าเป็นลิเกนะ แต่มันเป็นความจริง) ความทรงจำเหล่านี้จะย้อนกลับมาทุกครั้ง
เมื่อฉันจบการศึกษาเป็นพยาบาลเต็มตัว ฉันเริ่มปฏิบัติงานที่ห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งเป็นห้องเล็ก ๆ แต่ก็รู้สึกอบอุ่นดี ทุกคนทำงานใกล้ชิดกัน ก็เพราะว่าห้องมันเล็ก (แต่ก่อนห้องฉุกเฉินตั้งอยู่ที่ตึกซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร”โรงพยาบาลราชวิถี ในปัจจุบัน) ในสมัยนั้นในเดือนเมษายนของทุกปี จะต้องมีแพทย์จบใหม่ (Intern) และพยาบาลจบใหม่ (New GN) เข้าปฏิบัติงานในแต่ละแผนกของโรงพยาบาล จึงมักมีคนกล่าวว่า “เดือนเมษายนของทุกปี จะมีอัตราการตายของผู้ป่วยสูงกว่าเดือนอื่น ๆ” ซึ่งฉันเห็นด้วยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินซึ่งต้องการการดูแลช่วยเหลือจากผู้มีประสบการณ์กลับต้องมาอยู่ในการดูแลของผู้ที่มีประสบการณ์น้อย โดยเฉพาะในเวรที่ Intern และNew GNอยู่เวรเดียวกัน ในสมัยนั้นนอกเวลาราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์จะมีเฉพาะ Intern ปฏิบัติงานที่ห้องฉุกเฉิน โดยมีระบบ Consult แพทย์อาวุโส และแพทย์เฉพาะทางบางแผนก เพราะสมัยนั้นยังไม่มีแพทย์ประจำบ้านทุกแผนก ซึ่งตามได้บ้าง ไม่ได้บ้าง จากปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบกับระบบการสื่อสารก็ยังไม่ดีเหมือนปัจจุบัน จนมีคนพูดติดตลกว่าจะ Consult ได้หรือไม่ได้ สุดแล้วแต่เวรกรรมของ Intern และผู้ป่วย , Intern ส่วนใหญ่จึงต้องพกตำรา และเปิดตำรารักษาผู้ป่วยอยู่บ่อย ๆ โดยแอบเปิดไม่ให้ผู้ป่วยเห็น แต่ไม่ได้ปิดบังพยาบาล แถมยังร่วมปรึกษาหารือกับพยาบาลอาวุโส ซึ่งเป็นการเรียนรู้ร่วมกันอยู่เนือง ๆ พยาบาลอาวุโสจึงถูกเป็นทางเลือกให้เปรียบเสมือนเป็นที่ปรึกษาหารือให้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจของ Intern ในสถานการณ์ที่คับขันหรือในเวลาที่ไม่สามารถติดต่อปรึกษาแพทย์อาวุโสได้ ซึ่งหัวหน้าพยาบาลของฉันในสมัยนั้นดูเหมือนจะเข้าใจหัวอก Intern เป็นอย่างดี จึงมักขอร้องแกมบังคับ โดยจัดเวรให้พยาบาลอาวุโสอยู่เวรร่วมกับ Intern และ New GN ทุกเวรตลอดเดือนเมษายน ซึ่งพยาบาลอาวุโสส่วนใหญ่ก็ยินดีไม่มีผู้ใดขัดข้อง เพราะทุกคนเข้าใจดีว่าหัวอก Intern ก็คงจะเหมือนNew GN ตอนจบใหม่ๆ แต่ New GNยังดีกว่าที่มีระบบพี่เลี้ยง คือพยาบาลรุ่นพี่จะขึ้นเวรประกบน้องจนน้องมีความมั่นใจจึงปล่อยให้ขึ้นเวรฉายเดี่ยวได้ ฉันก็เช่นกันเมื่อสั่งสมประสบการณ์ (ต้องขอขอบพระคุณพี่ ๆ พยาบาลและอาจารย์หมออีกหลายๆ ท่านที่ให้คำแนะนำ สั่งสอนขณะยังเป็น New GNไว้ ณ ที่นี้ด้วย) จนได้รับความไว้วางใจจากหัวหน้าให้เป็นพยาบาลอาวุโส (ไม่ใช่แก่นะ) จึงถูกจัดเวรให้ปฏิบัติงานร่วมกับ Internในช่วงเดือนเมษายนของทุก ๆ ปี ถี่กว่าพยาบาลรุ่นน้องๆ
*หัวหน้าพยาบาลศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” โรงพยาบาลราชวิถี
ในช่วงตลอดเดือนเมษายนของแต่ละปี พยาบาลอาวุโสรวมทั้งตัวฉัน ได้พบเห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ แตกต่างกันไป ฉันยังจำภาพที่ Intern แต่ละคนมักจะถือตำรามาที่ ER เมื่อสงสัยก็มักแอบไปเปิดตำราก่อนให้การรักษาผู้ป่วย ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นการทบทวนความรู้ให้แม่นยำขึ้น ซึ่งจะทำให้จำได้ไม่มีวันลืมเชียวล่ะ ถ้าจะว่าไปแล้วคนไข้เปรียบเสมือนเป็นครูคอยตั้งโจทย์ให้เราคิด และเราสามารถเปิดหาคำตอบได้ในบางส่วนในตำราที่ถือมานั่นเอง (ฉันเองก็ได้รับความรู้ จากส่วนนี้อยู่บ่อย ๆ จาก Intern หลาย ๆ คน ซึ่งต้องขอขอบคุณย้อนหลังไว้ณ ที่นี้เช่นกัน)
ขณะทำงานร่วมกัน Intern บางคนไม่แม่น dose ยา ไม่แม่น Side Effect หรือบางครั้งยังไม่คุ้นเคยในการใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจหรืออุปกรณ์การแพทย์บางชนิด พยาบาลอาวุโสก็มักจะช่วยให้ข้อมูลและคำแนะนำ โดยที่ไม่ได้คิดว่าจะตั้งตนสอนแพทย์ และแพทย์ก็ไม่ได้คิดและรู้สึกว่าถูกพยาบาลสอนหรือจับผิด แต่เป็นการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งเราทั้ง 2 ฝ่ายรับรู้กันได้ด้วยดี (ของแบบนี้บอกให้เข้าใจยาก แต่มันเป็น sense ของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งกันและกัน) บางครั้งพยาบาลงานยุ่ง แพทย์ยังมาช่วยฉีดยา ให้ O2 ลงทะเบียน ให้ใบนัดผู้ป่วย และอื่น ๆ อีกมากมายหลายอย่าง (ซึ่งปัจจุบันเมื่อพบกับแพทย์เหล่านั้น ยังพูดถึงเรื่องเก่า ๆ ว่าดีนะ ตอนอยู่ ER ได้หัดฉีดยาบ่อย ๆ พอมาเปิดคลีนิค ไม่ต้องจ้างพยาบาลเลย และยังสอนแพทย์รุ่นน้องให้ทำตามอย่างตัวเองอีกด้วย) ในบางเวรมีคนไข้ต้องเย็บแผลหลายคน Intern เย็บไม่ทัน พยาบาลก็งานยุ่งพอกัน แต่ก็ยังแบ่งเวลามาช่วยแพทย์เย็บแผลให้ทำงานเสร็จพร้อม ๆ กัน จะได้กินข้าวด้วยกัน ด้วยความตั้งใจที่ว่า เราจะยุ่งหรือสบายไปด้วยกัน หรือบางทีเจอผู้ป่วยดื่มสุรา เอะอะโวยวาย ก็ได้ Intern ผู้ชายนี่แหละมาเป็นพระเอก หยุดตรวจคนไข้ชั่วคราวและเข้ามาช่วยเหลือพยาบาลทุกทีไป (คนไข้เจอหน้าผู้ชายรู้สึกว่าจะดีขึ้น และในสมัยนั้นไม่มีพยาบาลผู้ชายและไม่มี เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมาอยู่หน้า ER) การทำงานของเราบางทีก็มีเรื่องขัดอกขัดใจกันบ้าง เป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นแพทย์กับพยาบาล หรือพยาบาลกับพยาบาล แต่เราก็ให้อภัยกัน หายโกรธกัน คนผิดก็มาขอโทษ (Intern และ Resident บางคน มายกมือไหว้ขอโทษพยาบาลก็ยังเคยมี) ทำให้ได้รสชาติของชีวิตมากขึ้น เมื่อถึงวันหยุด ถ้ามีโอกาสก็จะไปเที่ยวด้วยกันเป็นทีม ทุกระดับ ตั้งแต่ แพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยเหลือคนไข้ หรือแม้แต่แม่บ้าน เพื่อพักผ่อนเตรียมตัวเตรียมใจไว้ทำงานกันต่อไป ทำให้เราทุกระดับเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น และปฏิบัติงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข ถึงแม้จะเหนื่อยล้าเต็มที
พอครบ 1 ปีของการปฏิบัติงาน, Internจะต้องออกไปใช้ทุน (สมัยนั้นใช้วิธีจับฉลาก) Intern หลายคนก็ยังมาขอพรจากพยาบาลอาวุโสให้ได้จังหวัดใกล้ ๆ บางคนมีอาการซึมไม่อยากไป บางคนถึงกับร้องไห้ ซึ่งนับเป็นการอำลาอาลัยก่อนที่จะแยกย้ายกันไปปฏิบัติหน้าที่ตามเส้นทางชีวิตของแต่ละคน แต่ก็ยังหาโอกาสมาแวะเยี่ยมเยียนกันอยู่เสมอ ๆ หรือบางครั้งเมื่อมีโอกาส พยาบาลก็จัดทีมไปเยี่ยมเยียนจังหวัดนั้น ๆ เสียเลย
เหตุการณ์เหล่านี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า กันอยู่แบบนี้หลายๆปี ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น คือมี Staff มาประจำที่ห้องฉุกเฉินนอกเวลาราชการ เพื่อช่วยเป็นที่ปรึกษาให้ Intern และยังมี Resident และ Staff ให้ Consult กันได้ทุกแผนก ระยะต่อมาไม่มี Intern มีแต่ Extern พร้อม ๆ กับห้องฉุกเฉินได้ย้ายมาที่ตึก EMS ในปัจจุบัน สถานที่กว้างขวางขึ้น มีอุปกรณ์การแพทย์ครบครันกว่าในอดีต มีแพทย์ พยาบาล และผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งช่วงที่มี Staff มาประจำห้องฉุกเฉิน มักมีเรื่องขำๆเกิดขึ้นเสมอๆหลายเรื่อง เช่น เมื่อ Staffเฉพาะทางโรคไตมาอยู่เวร ผู้ป่วยมักจะถูกเก็บปัสสาวะเพื่อส่งตรวจหาค่าต่างๆมากมายในเวลาราชการ ส่วนช่วงที่มี Staff เฉพาะทาง Chest มาอยู่ ผู้ป่วยก็มักจะถูกเก็บเสมหะ เพื่อส่งตรวจหาค่าต่างๆมากมายในเวลาราชการอีกเช่นกัน จนตู้เย็นที่เก็บSpecimen ของห้องฉุกเฉินเต็มไปด้วยปัสสาวะและเสมหะในเวรนั้น มากกว่าเวรอื่น ๆ (สมัยนั้นห้อง lab ยังไม่พร้อมตรวจได้ 24 ชั่วโมง เหมือนในปัจจุบัน จึงต้องเก็บไว้ในตู้เย็นก่อน) แต่ก็นับเป็นสิ่งที่ดีที่ผู้ป่วยมีโอกาสได้พบแพทย์เฉพาะทางโดยตรง โดยไม่ต้องเสียเวลามาตรวจในเวลาราชการอีก
เรื่องราวต่างๆที่เกิดซ้ำๆกันเป็นเวลาหลายๆปี ที่ฉันเล่ามานี้ ยังมีรายละเอียดอีกมากมาย และเป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ เรื่องของความทรงจำดี ๆ ที่ฉันเคยเจอ และคิดว่าไม่เพียงแต่ฉันเท่านั้นที่ยังจำได้ แต่ยังมีคนในสมัยนั้นทุกระดับ ทั้งแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่อื่นๆ ซึ่งขณะนี้บางท่านเกษียณอายุแล้ว บางท่านแยกย้ายไปปฏิบัติงานที่อื่นตามเส้นทางชีวิตของแต่ละคน บางท่านไปเป็นสาธารณสุขจังหวัด , ผู้อำนวยการโรงพยาบาล , สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร , ผู้บริหาร , นักธุรกิจ, เมื่อมีโอกาสพบกันยังคงพูดถึงความทรงจำดี ๆ ที่พวกเราเคยทำงานร่วมกันมา เรายังคงเป็นพี่เป็นน้องกันอยู่เสมอ ในบ้างครั้งเจอแม่บ้านห้องฉุกเฉินในสมัยนั้น ก็ยังคงพูดถึงเรื่องในอดีตกันอยู่บ่อย ๆ หรือแม้แต่คนไข้ เมื่อเจอฉัน (พ.ศ. 2546)ในโรงพยาบาลยังตะโกนเรียกทักทายฉันและพูดถึงวันเก่า ๆ ที่เคยมาตรวจที่ห้องฉุกเฉิน พร้อมทั้งสอบถามสารทุกข์สุขดิบของฉันและเจ้าหน้าอื่น ๆ ในสมัยที่เคยมาตรวจที่ห้องฉุกเฉินในสมัยนั้น แบบคนที่เคยคุ้นเคยกันมานาน (ผู้ป่วยมีอาการหอบ จึงมาห้องฉุกเฉินบ่อยๆ ระยะหลังผู้ป่วยไปอยู่กับลูกที่ต่างจังหวัด อาการหอบจึงห่างหายไป) ฉะนั้น วันวานยังหวานอยู่ คงไม่ใช่เป็นวันวานของฉันคนเดียวเสียแล้ว แต่มันเป็นวันวานของพวกเราทุกคนที่มีชีวิตอยู่ในสมัยนั้น ซึ่งพวกเราล้วนยังคงจำมันได้ตลอดเวลาที่นึกถึง เปรียบเสมือนตำนานแห่งความทรงจำดี ๆ ที่มีคุณค่าทางจิตใจของพวกเราทุกคน ที่ได้ร่วมสร้างกันมาเป็นเวลายาวนาน
ปัจจุบันห้องฉุกเฉิน มีการพัฒนาไปในทางที่ดี ทั้งสถานที่ เครื่องมืออุปกรณ์ เทคโนโลยีต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านบุคลากร มีแพทย์ Staff ประจำ 24 ชั่วโมง มีหลักสูตรฝึกอบรมแพทย์และพยาบาลเฉพาะทางเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ซึ่งนับเป็นผลดีต่อผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินเป็นอย่างยิ่ง บุคลากรก็คงจะปฏิบัติงานได้ด้วยความมั่นใจและมีประสิทธิภาพ ซึ่งแตกต่างจากในอดีตอย่างลิบลับ ฉันคิดว่า “ห้องฉุกเฉินในวันนี้ดีกว่าห้องฉุกเฉินในวันวานของฉันอย่างมากมายเสียจริง ๆ”
อย่างไรก็ตาม แม้ห้องฉุกเฉินในอดีตของฉันจะไม่ใหญ่โต ไม่มีอุปกรณ์ และเครื่องมือที่ทันสมัยดังปัจจุบัน แต่พวกเราทุกคนก็ทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข ทุกคนเหนื่อยหรือสบายด้วยกัน เราร่วมแรงร่วมใจ จริงใจ ให้เกียรติ์ เรียนรู้ แบ่งปัน เอื้ออาทร ซึ่งกันและกัน เพื่อจะได้ช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินให้รอดชีวิตและพ้นทุกข์ทรมาน อันเป็นเป้าหมายหลักของพวกเราทุกคน และสิ่งหนึ่งที่เราได้โดยไม่รู้ตัว คือ “มิตรภาพที่ยั่งยืนถาวร” ปัจจุบันฉันเข้าใจความหมายของคำว่า “มิตรภาพ” ได้อย่างลึกซึ้ง ก็จากห้องฉุกเฉินนี่แหละ โดยเฉพาะเมื่อได้ยินเพลง 16 ปี แห่งความหลัง และเพลงวันวานยังหวานอยู่ทีไร (เหมือนลิเกอีกแล้ว แต่มันเป็นความรู้สึกจริง ๆ นะ) ตำนานแห่งความทรงจำดี ๆ ของฉันก็จะย้อนกลับมาเป็นตำนานที่มีชีวิตอีกครั้ง ตัวละครมากมายหลายชีวิตผุดขึ้นมาในความทรงจำของฉันอย่างไม่เคยมีวันลืม ทำให้ฉันเบิกบานใจมีความสุขอย่างบอกไม่ถูก และยิ่งทำให้ฉันรู้สึกรักห้องฉุกเฉินมากขึ้นทุกที
สุดท้ายนี้ฉันอยากจะบอกว่า ฉันเป็นตัวเป็นตนจนสามารถเขียนหรือสอนหนังสือให้ใครต่อใครฟังได้ ก็เพราะห้องฉุกเฉินนี้แหละ ที่ให้ต้นทุนชีวิตฉันในด้านประสบการณ์ต่างๆ ตลอดจนเป็นแบบฝึกหัดในการเรียนรู้ถึงการมีพรหมวิหาร4 การอดทน อดกลั้น การตัดสินใจที่ดี โดยเฉพาะการที่ต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา ซึ่งฉันได้เคยลองผิดลองถูกมาแล้วทั้งสิ้น สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ฉันได้เรียนรู้ก็คือการอโหสิกรรม ซึ่งช่วยทำให้ฉันรู้สึกสบายใจทุกครั้งที่ได้ใช้สิ่งนี้ในการทำงานและใช้ในชีวิตประจำวัน สิ่งต่างๆเหล่านี้ ล้วนเป็นสัจจะธรรมของทุกชีวิตที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร นอกจากนี้ฉันยังได้มีโอกาสสั่งสมประสบการณ์ การทำงานด้าน EMS ที่ศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” ซึ่งเป็นงานฉุกเฉินที่มีลักษณะการทำงานนอกโรงพยาบาลคล้ายๆกับยกห้องฉุกเฉินออกไปช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ ชีวิตฉันทั้งชีวิตจึงวนเวียนอยู่แต่ในงานฉุกเฉินตั้งแต่เรียนจบใหม่ๆจนถึงปัจจุบัน ฉันบอกตัวเองอยู่เสมอว่า ฉันรักงานฉุกเฉินด้วยความขอบคุณยิ่งและฉันจะไม่มีวันลืมงานฉุกเฉินที่มีพระคุณของฉันตลอดไป ถ้าฉันมีโอกาสได้ทำอะไรก็แล้วแต่ที่จะเป็นประโยชน์ต่องานฉุกเฉิน ฉันก็พร้อมที่จะทำด้วยความเต็มใจ ความรู้สึกและความทรงจำดี ๆเหล่านี้ ฉันไม่อยากเก็บมันไว้กับตัวเองเพียงลำพัง จึงขอเขียนเพื่อเล่าให้ฟัง และอยากให้พวกเราชาวฉุกเฉินทุกๆคน ช่วยกันสร้างห้องฉุกเฉิน (ที่ฉันเคยอยู่) ในวันนี้ที่ดีกว่าในวันวานของฉันในทุก ๆ ด้าน ให้ดียิ่งๆขึ้น ไปเรื่อย ๆ เพื่อให้วันนี้และวันในอนาคตของทุกคนจะได้กลายเป็น “วันวานยังหวานอยู่” เหมือนที่ฉัน และพี่ ๆ น้อง ๆของฉัน ในสมัยนั้นเคยได้ร่วมสร้างกันมา ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมแรง ร่วมมือ ร่วมใจของทุกๆคนอย่างจริงจังและจริงใจ จึงจะเกิดผลสำเร็จ และจะสะท้อนมาถึงการให้บริการที่ดีต่อประชาชนคนไทย รวมถึงตัวของเราเองหรือสมาชิกในครอบครัวอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเราทุกคน ซึ่งฉันจะคอยเฝ้าดูอย่างใจจดใจจ่อ และเมื่อถึงวันนั้น วันวานในอดีตที่มีแต่ความทรงจำดี ๆ นี่แหละ ที่จะเป็นเหมือนน้ำหล่อเลี้ยงจิตใจของเราทุกคนให้เบิกบาน เมื่อยามที่เรานึกถึง และวันนั้นคงจะทำให้เราเข้าใจ คำว่า “มิตรภาพ” ได้อย่างลึกซึ้ง ซึ่งมันจะเป็นตำนานแห่งความทรงจำที่ดีและมีคุณค่าในชั่วชีวิตของเราทุกคน ฉันอยากจะบอกว่า
“มิตรภาพ ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง”
แล้วท่านล่ะ ต้องการสร้าง “มิตรภาพ” และ ต้องการสร้าง “ตำนาน” เหมือนอย่างฉันหรือเปล่า