โรงพยาบาลราชวิถี ตระหนักถึงการเสียชีวิตและพิการที่ไม่สมควรเนื่องจากความล่าช้า การนำส่งที่ผิดวิธีและการนำส่งที่ผิดที่ จึงได้เริ่มต้นโครงการต้นแบบระบบการรักษาพยาบาลก่อนถึงโรงพยาบาล แก่ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน ในพื้นที่บริการ โดยได้อัญเชิญพระนามของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทร องค์สถาปนากระทรวงสาธารณสุข มาเป็นชื่อของหน่วยปฏิบัติการ ที่เรียกว่า หน่วยกู้ชีพ " นเรนทร" โดยเริ่มเปิดอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2538 จนถึงปัจจุบัน ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มูลนิธิร่วมกตัญญู และสถาบันการแพทย์ด้านอุบัติเหตุ และสาธารณภัย กรมการแพทย์ และ ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินเป็นอย่างยิ่งจาก มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินได้รับการรักษาพยาบาลที่รวดเร็ว ณ ที่เกิดเหตุ มีการลำเลียงนำส่งที่ถูกวิธีไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสม ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นก็คือ ทำให้เกิดการยอมรับและนำรูปแบบไปขยายผลโดยกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศในรูปแบบของ "ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน" Emergency Medical Services System (EMS)
เป็นที่รู้จักในชื่อ รถกู้ชีพ”นเรนทร” เตรียมพร้อมออกปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีวัตถุประสงค์ออกปฏิบัติการ พร้อมอุปกรณ์การแพทย์ เพื่อประเมิน ช่วยชีวิต และให้การรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินตั้งแต่ในที่เกิดเหตุ และนำส่งโรงพยาบาล เพื่อรับการรักษาต่อ
บุคลากรประจำรถกู้ชีพ ประกอบไปด้วย
เครือข่ายร่วมให้บริการรถพยาบาลฉุกเฉิน และอาสาสมัคร ในพื้นที่ zone 8 กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย
บริการรถพยาบาลฉุกเฉินขั้นสูง (Advanced Life Support Ambulance)
บริการรถพยาบาลฉุกเฉินขั้นพื้นฐาน (Basic Life Support Ambulance)
เครือข่ายอาสาสมัคร
ในปีพ.ศ.2558 ศูนย์กู้ชีพ”นเรนทร”ออกปฏิบัติการทั้งหมด 1,181 ครั้ง ลดลงจากปีก่อนหน้า 139 ครั้ง (10.53%)
โดยภารกิจได้รับการรับแจ้งจากศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร มากที่สุด (75%) ตามด้วย อาสาสมัคร (10.5%) หน่วยกู้ภัย (3.98%) วิทยุสื่อสารประชาชน (2.20%) ประชาชนทางหมายเลขอื่น (2.12%) และเจ้าหน้าที่ตำรวจ (2.12%) ตามลำดับ
อาการรับแจ้งที่มีสัดส่วนมากที่สุด คือ ภาวะหมดสติ (40.1%) รองลงมาได้แก่ หอบเหนื่อย (18.6%) หมดสติ หยุดหายใจ สงสัยหัวใจหยุดเต้น (10.6%) บาดเจ็บ หมดสติ (5.7%) เจ็บแน่นหน้าอก (3.86%)
ผู้ป่วยที่ไม่ใช่อาการบาดเจ็บ ยังคงเป็นสัดส่วนมากที่สุด (76%) ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า (77%) รองลงมาได้แก่ อาการบาดเจ็บ (17.7%) สูตินรีเวช (4.67%) และอื่นๆ (1.6%)
ในปี 2558 อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยที่ไม่ใช่อาการบาดเจ็บ คือ 63 ปี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า (61 ปี) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอายุเฉลี่ยของประชากรในประเทศ
ส่วนผู้ป่วยจากการบาดเจ็บ มีอายุเฉลี่ย 35 ปี ลดลงจากปีก่อนหน้า (38 ปี) โดยมีสาเหตุส่วนใหญ่จากอุบัติเหตุจราจร
ผู้ป่วยระดับวิกฤติฉุกเฉิน (Emergent) มีสัดส่วนมากที่สุด (48.9%) รองลงมาเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ไม่วิกฤติ (Urgent) (43.9%) และผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน (7.2%) โดยจำนวนของผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉิน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ในขณะที่ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่วิกฤติ และผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน มีสัดส่วนลดลง
เมื่อพิจารณากลุ่มผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งกลุ่มวิกฤติ และไม่วิกฤติ คิดเป็นสัดส่วน 92.8% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี
เมื่อพิจารณาถึงผลการรักษาของหน่วยกู้ชีพ”นเรนทร” สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยให้รอดพ้นจากอาการวิกฤติได้เป็นจำนวน 181 ราย คิดเป็น 15.9% อาการดีขึ้น 55.6% คงเดิม 15.7% และเสียชีวิต 11.7%
ตัวชี้วัดด้านความพร้อมออกปฏิบัติการของศูนย์กู้ชีพ”นเรนทร” ใช้สัดส่วนเวลาการออกตัวหลังสั่งการไม่เกิน 2 นาที โดยกำหนดเกณฑ์ที่ต้องทำให้ได้คือ มากกว่า 90%
ในปี 2558 สามารถออกตัวได้ภายใน 2 นาทีคิดเป็น 83.47% ลดลงจากปีก่อนหน้า (87.40%)
โดยระยะเวลาออกตัวเฉลี่ย อยู่ที่ 1.32 นาที เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า (1.29 นาที) เล็กน้อย
ในปี 2558 ศูนย์กู้ชีพ”นเรนทร” มีระยะเวลาที่ใช้ตั้งแต่ได้รับแจ้งจนถึงที่เกิดเหตุ(ระยะเวลาตอบสนอง)เฉลี่ย 14.61 นาที เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า (14.40 นาที) เมื่อพิจารณาข้อมูล 5 ปีย้อนหลัง พบว่าระยะเวลาตอบสนองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สาเหตุหลักมาจาก 1. สภาพการจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นใน และ 2. ระยะทางระหว่างศูนย์กู้ชีพ และที่เกิดเหตุ
เมื่อพิจารณาระยะทางเฉลี่ยของการออกปฏิบัติการพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของระยะทางเฉลี่ย จาก 6.92 กม. เป็น 7.11 กม. และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ว่าพื้นที่รับผิดชอบจะเท่าเดิม อาจมีสาเหตุมาจาก 1. มีจำนวนจุดเกิดเหตุที่อยู่ห่างไกลจากศูนย์มากขึ้น 2. ได้รับการร้องขอสนับสนุนปฏิบัติการนอกพื้นที่มากขึ้น
เมื่อศึกษาถึงความสัมพันธ์ของระยะทาง และระยะเวลาตอบสนอง พบว่ามีความสัมพันธ์ไปในทางเดียวกัน โดยระยะทางที่ไกลขึ้น ส่งผลต่อระยะเวลาตอบสนองที่นานขึ้น และในปี 2558 มีความใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า ยังไม่พบความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน
การปฏิบัติการที่ระยะทางไปถึงจุดเกิดเหตุไม่เกิน 1 กิโลเมตร สามารถใช้ระยะเวลาตอบสนองได้ภายใน 8 นาที ได้มากกว่า 80% ส่วนจุดเกิดเหตุที่มีระยะทางตั้งแต่ 2 กิโลเมตร เป็นต้นไป โดยส่วนใหญ่จะไม่สามารถใช้ระยะเวลาตอบสนองภายใน 8 นาทีได้ อันเนื่องมาจากสภาพการจราจรดังที่ได้กล่าวข้างต้น และยังไม่พบความเปลี่ยนแปลงชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติปฏิบัติการที่ผ่านมา