เวียดนามวันนี้…อยู่ในสิ่งที่มี...และทำในสิ่งที่เป็น...อย่างมุ่งมั่น

เดือนพฤศจิกายน 2552 นี้ เป็นเดือนแห่งการครบรอบ 1 ปี ที่ผู้เขียนได้เดินทางไปเวียดนาม ผู้เขียนจึงอยากจะย้อนรอยเล่าเรื่องราวในอดีต เพื่อรำลึกถึงความรู้สึก ความประทับใจ และอีกหลายๆอย่างที่ได้เจอะเจอมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้สึกที่รับรู้ได้ว่า เวลา 1 ปีนั้น รวดเร็วยิ่งนัก ทำให้ผู้เขียนต้องเตือนตัวเองว่า ยังมีงานอะไรอีกบ้าง ที่เราควรจะทำ แต่ยังไม่ได้ทำ เราคงชักช้าอีกไม่ได้แล้ว เพราะเราอาจไม่มีเวลามากนักที่จะเหลือให้เรา และช่วงต่อไปนี้ ลองมาดูซิว่า ประเทศไทยและเวียดนาม มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นมาบ้าง ในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา เรามาย้อนเรื่องราวในเวียดนามไปพร้อมๆกันเลยดีกว่า

เมื่อเอ่ยถึงเวียดนาม ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่าสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม คนทั่วไปส่วนใหญ่คงจะคิดเหมือนๆกันว่า เป็นประเทศที่กำลังพัฒนาภายหลังสงคราม จะสู้อะไรกับประเทศไทยที่เราคิดว่ายิ่งใหญ่ ของเราได้ ผู้เขียนก็เคยคิดเช่นนี้เหมือนกัน แต่เมื่อได้มีโอกาสไปนำเสนอผลงานวิจัยในการประชุมวิชาการ The 2nd Asia Pacific Injury Prevention Conference. ณ เมืองฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม ตั้งแต่วันที่ 3- 6 พฤศจิกายน 2551 (และอยู่เที่ยวต่อจนถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2551 ) โดยประเทศเวียดนามได้รับการสนับสนุนจาก WHO, UNICEF, Aus AID, The ATLANTIC Philanthropies และ GLOBAL ROAD SAFETY PARTNERSHIP ให้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมวิชาการฯครั้งนี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นเวลาที่ไม่นานนักในฮานอย แต่ก็ทำให้ผู้เขียนได้รู้ ได้เห็น ได้สัมผัสเวียดนามในหลายแง่มุม ทั้งแง่มุมที่เป็นทางการทางด้านสาธารณสุข ที่ได้รับจากการประชุม หรือแง่มุมในด้านต่างๆ โดยเฉพาะวิถีชีวิตของชาวเวียดนาม เนื่องจากผู้เขียนไม่ได้ไปกับคณะทัวร์ แต่ผู้เขียนเดินทางไปกันเอง จึงมีโอกาสเลือกไปไหนต่อไหนได้ตามใจชอบ ทำให้ ได้สัมผัสกับวิถีชีวิตที่แท้จริงของชาวเวียดนาม ซึ่งล้วนเป็นสิ่งกระตุ้นเตือนสำนึกและทำให้เราได้จุดประกายความคิดอะไรต่อมิอะไรหลายๆอย่างในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่มีสิทธิ์จะคิดได้

ผู้เขียนเดินทางไปฮานอยกับผู้ร่วมทาง( ตามไปเที่ยว) อีก3 คน รวมเป็น 4 คน โดยสายการบินเวียดนาม ( เพราะช่วงนั้น ราคาถูกกว่าการบินไทย )ในเช้าวันจันทร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2551 ลักษณะภายนอกและภายในของเครื่องบิน ดูสะอาดสะอ้านเหมือนๆกับการบินไทย การให้บริการของพนักงานต้อนรับของสายการบินเวียดนาม ดูไม่แตกต่างจากการบินไทย สายการบินแห่งชาติของเรานัก แต่ถ้าพิจารณาดูถึงรายละเอียดต่างๆของพนักงานบริการในเครื่องบิน ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียง ลักษณะท่าทาง สีหน้า หรือการยิ้มแย้มแจ่มใส ผู้เขียนยังมองเห็นว่าคนไทยมีคะแนนที่เหนือกว่าอย่างมาก ไม่ได้อคตินะ พอเครื่องลงที่ Noi Bai International Airport ยืนรอสักพัก ก็ยังไม่เห็นมีใครมารับ ทั้งๆที่ก่อนไป ได้ติดต่อ e-mail ว่าจะมีคณะทำงานของการประชุมฯมารับที่สนามบิน เมื่อมองไปโดยรอบ เห็นมีคนกลุ่มหนึ่งประมาณ 4-5 คน ยืนถือแผ่นกระดานในมือกันทุกคน ดูเหมือนกำลังจะรอใครอยู่ ผู้เขียนจึงเข้าไปถาม จึงได้รู้ว่าเป็นคณะทำงานของการประชุมฯมารอรับผู้เข้าประชุม เมื่อตรวจเช็ครายชื่อ กลับไม่พบชื่อของผู้เขียนและไม่ได้จองโรงแรมไว้ให้ผู้เขียนด้วย แต่เค้าก็รับผิดชอบว่าเกิดการผิดพลาด (เหมือนที่ผู้เขียนเคยจัดประชุมวิชาการที่เมืองไทยเลย) และช่วยอำนวยความสะดวกให้หลายอย่าง ผู้เขียนจึงขอข้อมูลโรงแรมและติดต่อจองห้องพักเอง ในเวลานั้นผู้เขียนรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะยุ่งยากบ้าง แต่กลับมารู้สึกได้ในภายหลัง ว่าการจองโรงแรมในฮานอยด้วยตัวเองเมื่อไปถึง เป็นสิ่งที่ดีกว่า เพราะสามารถเลือกได้หลายโรงแรมเนื่องจากมีโรงแรมอยู่ติดๆกันตลอดเส้นทาง ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีที่พัก และต่อรองราคาได้อีกด้วย คราวหน้าถ้าได้ไปอีก ส.บ.ม.ย.ห. ในเรื่องที่พัก จะเลือกนอนวันละ 1 โรงแรมก็ยังได้เลย เมื่อจองได้โรงแรมที่ต้องการแล้ว ก็เช่าเหมารถแท็กซี่ (การเช่าเหมาจะถูกกว่าการคิดระยะทางเป็นกิโลเมตร) เพื่อเดินทางเข้าเมืองฮานอย ซึ่งใช้เวลาประมาณ 45 นาที ก็ถึงโรงแรมที่พักซึ่งเป็นโรงแรมระดับ 3 ดาว ประชาสัมพันธ์และพนักงานโรงแรมดูท่าทางเป็นมิตร ยิ้มแย้มแจ่มใสดีทุกคน ในเย็นวันนั้น พนักงานโรงแรมยังพาเราเดินหาอาหารค่ำและแนะนำอะไรต่อมิอะไรอีกหลายอย่างในฮานอย ซึ่งเป็นข้อมูลอย่างดี ในการท่องเที่ยวของคณะเราในวันต่อๆมา

ในวันที่ 2 ของการพักในโรงแรมนี้ ผู้เขียนได้พบสุภาพสตรี 2 คนที่มาพักใหม่ อายุประมาณ 50 ปีเศษๆ พูดภาษาไทย แต่งตัวทันสมัย ดูคล่องแคล่วว่องไว ผู้เขียนและคณะรู้สึกดีใจที่จะได้พบคนไทยในต่างแดน แต่ครั้นพอพวกเราพยายามสบตาเพื่อจะพูดคุยด้วย เธอทั้ง 2 กลับทำเหมือนไม่เห็น ไม่อยากจะทักทาย ทั้งๆที่คณะเราก็พูดภาษาไทยกันออกจะเสียงดังกันทุกคน พวกเราได้แต่แปลกใจว่าทำไมเธอทั้ง 2 จึงต้องทำแบบนั้นด้วย และพวกเรายังได้ยินเธอพูดบ่นต่อว่าโรงแรมไม่ดีอย่างนั้น ไม่ดีอย่างนี้ เราทั้งหมดคิดกันว่าเธอคงอารมณ์เสียอะไรสักอย่างเกี่ยวกับโรงแรม จึงหงุดหงิดให้เราได้เห็นอาการอย่างออกนอกหน้า พวกเราจึงไม่ได้คิดอะไรมากนัก วันต่อมา มาเจอกันอีกในห้องอาหารของโรงแรม เธอก็คงยังมีปฏิกิริยาเหมือนเดิม ดูไม่เป็นมิตรกับพวกเราหรือใครเลย ยังคงบ่นโรงแรมว่าไม่ดีเหมือนเดิม บ่นเสียงดังเสียด้วย แหม...หงุดหงิดข้ามวันข้ามคืนเชียวนะเธอ แต่เธอก็ยังตั้งหน้าตั้งตากินอาหารในโรงแรมโดยกินไปบ่นไป ทั้งๆที่เราทั้ง 4 คน ไม่เห็นว่าโรงแรมจะแย่อะไรหนักหนาตามที่เธอบ่น เราพูดกันเล่นๆว่า ถ้าไม่ดีก็ไปหาโรงแรมใหม่สิ มีตั้งเยอะแยะ มาบ่นอยู่ได้ พวกเราทุกคน รู้สึกไม่ประทับใจท่าทีของสุภาพสตรีไทยทั้ง 2 นี้ ในเวียดนามเลย คนเวียดนามยังดูจะเป็นมิตรกับพวกเรามากกว่าตั้งเยอะ

มาพูดถึงการประชุมวิชาการฯกันบ้าง การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นในวันที่ 4-6 พฤศจิกายน 2551 ที่ Melia Hanoi Hotel ผู้เข้าประชุมประกอบด้วยบุคลากรสาธารณสุขi สาขาวิชาชีพต่างๆในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ แพทย์ พยาบาล นักสาธารณสุข และบุคลากรอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 700 คน มีการตรวจเช็ควัตถุระเบิดก่อนเข้าห้องประชุมทุกครั้ง และจะตรวจในทุกการประชุม ที่จัดขึ้นในโรงแรมนี้ การประชุมนอกจากจะมี Speakerในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มาพูดในTopicที่น่าสนใจแล้ว ยังมีการนำเสนอผลงานวิจัยทั้ง Oral Presentation และ Poster Presentation ซึ่งในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2551 ผู้เขียนได้มีโอกาสนำเสนอผลงานวิจัยในรูปแบบ Oral Presentation เรื่อง Factors Of Successful Prehospital Advanced Life Support : Outcome of Rajavithi Hospital ’s Narenthorn Emergency Medical Service Center : Thailand ขณะนำเสนอ พอผู้เขียนบอกว่ามาจากกรุงเทพ ทุกสายตาในห้องประชุมพยักหน้ายิ้มกันเป็นส่วนใหญ่ ผู้เขียนยังได้เชิญชวนผู้เข้าประชุมมาเที่ยวเมืองไทยอีกด้วย ไม่รู้ว่ามีใครหลงเชื่อมาเมืองไทยและกลับไม่ได้เพราะเหตุสนามบินถูกยึดบ้างหรือเปล่า..เค้าคงเคืองผู้เขียนน่าดูเลย การนำเสนอผ่านพ้นไปด้วยดี มีผู้เข้าร่วมประชุมซักถามและร่วมแสดงความคิดเห็นในผลงานวิจัยที่เรานำเสนอ มีการพูดคุยนอกรอบ แลกเปลี่ยนนามบัตรซึ่งกันและกัน มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกดีมากๆ ก็ตอนที่มีผู้แปลภาษาในห้องประชุมซึ่งเป็นคณะกรรมการในการจัดการประชุมครั้งนี้ด้วย วิ่งตามผู้เขียนออกมานอกห้องประชุม หลังจากที่ผู้เขียนนำเสนองานวิจัยเสร็จสิ้นแล้ว เค้าบอกว่าชื่นชอบการนำเสนอของเรามาก ไม่รู้ว่าเค้ายอเราหรือเปล่า เอ้า..ยอก็เชื่อวะ และยังบอกอีกว่าเค้าเป็นล่ามแปลภาษา และนั่งอยู่ในห้องแปล (ซึ่งผู้เขียนเรียกว่า”คอก” ) เราคงมองไม่เห็นหรอก มิน่าล่ะก็เพราะเค้านั่งอยู่ในคอกนี่เอง ผู้เขียนจึงไม่เห็นเค้าขณะที่กวาดสายตาไปโดยรอบห้องประชุมระหว่างนำเสนอ เราได้แลกเปลี่ยนนามบัตรกัน และเค้ายังบอกว่าเคยมาเรียนที่เมืองไทย ชอบเมืองไทยมาก พร้อมสอบถามถึงสถานการณ์ในเมืองไทย ผู้เขียนตอบ Everything is OK, และยังเชิญชวนมาเที่ยวเมืองไทยอีก เค้าบอกว่าจะมาแน่นอน จะมากินต้มยำกุ้ง เพราะชอบมาก ไม่รู้ว่าเค้ามาหรือเปล่าตอนช่วงปิดสนามบินในปลายเดือนพฤศจิกายน 2551 ที่เป็นข่าวครึกโครมไปทั่วโลก ถ้ามาก็น่าสงสารจริงๆ และในวันสุดท้ายของการประชุมฯ เค้าคนนี้อีกเช่นกัน ที่อนุญาตให้ผู้ร่วมเดินทางของผู้เขียนอีก 2 คน ( อีก1 คนป่วยเป็นไข้ในขณะนั้น...เลย อดไป) ได้เข้าศึกษาดูงาน ในโรงพยาบาลและเขตชุมชนปลอดภัย ในเมืองฮานอย ด้วยเหตุผลที่ว่าพวกเราเป็นคนไทยจึงอนุญาต เรา 3 คนเลยแยกย้ายกันไปดูงาน 2 แห่ง ซึ่งต้องขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ในการศึกษาดูงาน ผู้เขียนได้เลือกไปที่ Viet Duc Hospital ซึ่งโรงพยาบาลนี้ ในตอนเย็นของวันที่ 4 พฤศจิกายน 2551 ผู้เขียนและผู้ร่วมทาง เดินผ่านไปพบโดยบังเอิญ และไม่รู้ว่าเป็นโรงพยาบาลอะไร เพราะเห็นเขียนเป็นภาษาเวียดนาม สภาพดูเก๊าเก่า ยิ่งเป็นเวลาใกล้ค่ำ บรรยากาศยิ่งดูวังเวงน่ากลัว ผู้เขียนและผู้ร่วมทางเห็นพ้องต้องกันว่าจะแวะเข้าไปดู แต่ก็ดูได้ไม่มากนัก เพราะพวกเราไม่กล้าที่จะเข้าไปไหนต่อไหนได้มากกว่าที่จะเดินดูแต่เฉพาะบริเวณหน้าห้องฉุกเฉิน และบริเวณโดยรอบโรงพยาบาลเท่านั้น ตัวหนังสือต่างๆส่วนใหญ่เป็นภาษาเวียดนาม วันนั้นคณะของเราจึงได้เห็นบรรยากาศและความเป็นไปของโรงพยาบาลนี้ไม่มากนัก และผู้เขียนไม่คิดว่าจะได้มาดูจริงๆโดยละเอียดอีกครั้ง ในวันสุดท้ายของการประชุม คือวันที่ 5 พฤศจิกายน เพราะคณะจัดการประชุมได้กำหนดให้โรงพยาบาล Viet Duc เป็นสถานที่ที่จะพาผู้เข้าประชุมได้มาศึกษาดูงาน

โรงพยาบาล Viet Duc เป็นโรงพยาบาลศูนย์อุบัติเหตุของเวียดนามตอนเหนือ รับ Refer จากโรงพยาบาลทุกโรงพยาบาลในเวียดนามตอนเหนือ มีการทำผ่าตัดเปลี่ยนปอด เปลี่ยนหัวใจ และอื่นๆ อีกทั้งยังมีศัลยแพทย์มือดี ที่มีผลงานวิจัย และเขียนตำราที่ได้ถูกนำไปเผยแพร่ทั่วโลก คณะจัดการประชุมฯได้พาผู้เข้าประชุม เดินเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ ได้แก่เยี่ยมชมห้องฉุกเฉิน ตึกพักผู้บาดเจ็บทางสมอง โรงพักญาติที่มาเฝ้าผู้ป่วย โดยเฉพาะห้องฉุกเฉิน ผู้เขียนได้เดินเยี่ยมชมโดยรอบอย่างละเอียด พบว่าห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลแห่งนี้มี Spinal board และ Cervical Collar จัดเตรียมไว้พร้อม ซึ่งในโรงพยาบาลบางแห่งในกรุงเทพ ที่เป็นโรงพยาบาลศูนย์อุบัติเหตุ ยังไม่มี Spinal board และ Cervical Collar เหมือนดังในโรงพยาบาล Viet Duc ที่ดูสภาพโรงพยาบาลเก๊าเก่าแห่งนี้ อายเวียดนามเค้ามั๊ย (หรือจะบอกว่าไม่อาย ก็แล้วแต่จะคิดกันไป) หน้าห้องฉุกเฉินมีโทรทัศน์ซึ่งมีรายการเหมือนละครในบ้านเรา เปิดให้ผู้ป่วยและญาติได้นั่งดูขณะรอหมอตรวจ แต่ที่แตกต่างจากบ้านเราก็คือ เค้าได้สอดแทรกความรู้ทางด้านสาธารณสุขไว้ในบทละครด้วย เช่น เมื่อในละครมีบทผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน ตัวแสดงในละครจะโทรศัพท์เรียกเบอร์ฉุกเฉิน 115 ซึ่งเป็นเบอร์ขอรถฉุกเฉินในบ้านเค้า หรือเมื่อในบทมีผู้บาดเจ็บ ตัวละครก็จะมีการปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง เป็นการสอดแทรกการช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินได้อย่างแยบยล ซึ่งไม่เหมือนบ้านเรา ที่ในละครเมื่อมีตัวละครเจ็บป่วยฉุกเฉิน มักสื่อให้เห็นถึงสิ่งที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้นในบทละครเสมอๆ โถ.โถ.โถ...ถ้าดูแต่โครงสร้างของโรงพยาบาล ใครจะไปคิด ว่าโรงพยาบาลเก่าๆแห่งนี้ จะทำได้ถึงขนาดนี้ ผู้เขียนได้แต่ชื่นชมและอดสะท้อนใจถึงเมืองไทยอันศิวิไลซ์ยิ่งของเราไม่ได้ นี่แหละนะ ประเทศเวียดนามวันนี้ น่าจะเหมือนกับเพลงที่ คุณกมลา สุโกศล ร้องให้เราฟังบ่อยๆว่า อยู่ในสิ่งที่มี ไม่ใช่สิ่งที่ฝัน แหละทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด ..ด้วยความมุ่งมั่น

เมื่อพูดถึงเบอร์ 115 ในเวียดนาม เปรียบเทียบกับ 1669 ในประเทศไทย ผู้เขียนอดที่จะคิดไม่ได้ว่า เวียดนามเห็นความสำคัญและมีการพัฒนาในด้าน Pre –hospital care ได้ก้าวหน้ากว่าประเทศไทยอย่างรวดเร็ว ผู้เขียนเคยมีเพื่อนเป็นหมอชาวเวียดนามที่มาศึกษาต่อที่เมืองไทย ในปีพ.ศ. 2540 ซึ่งเราได้พูดคุยถึงเรื่อง Pre –hospital care เค้าเล่าในตอนนั้นว่า บ้านเค้ายังไม่มีเบอร์ฉุกเฉิน และยังไม่มีระบบ Pre –hospital care เหมือนเมืองไทย แต่เมื่อผู้เขียนได้มาเวียดนามในปีพ.ศ. 2551 นี้ คือ 11 ปีผ่านมา เวียดนามมีเบอร์ฉุกเฉินเป็นเลข 3 หลัก คือ115 ซึ่งดีกว่าของไทยที่มีตั้ง 4หลักคือ 1669 ทำให้จำได้ยากกว่า อีกทั้งเบอร์1669 ก็คล้ายๆกันกับเบอร์อะไรก็ไม่รู้อีกหลายเบอร์ในประเทศไทย คนไทยจำเบอร์เพื่อสั่งอาหาร delivery ได้มากกว่า 1669 เสียอีก แล้วจะโทษใครดีหนอ ผู้เขียนและผู้ร่วมทางได้ลองสอบถามพนักงานโรงแรมตั้งแต่วันแรกที่มาถึง และสอบถามประชาชน รวมถึงเด็กชั้นประถม พบว่าชาวเวียดนามส่วนใหญ่ รู้จักเบอร์ 115 กันเป็นอย่างดี อีกทั้งมีการประชาสัมพันธ์เบอร์ 115 ทั้งรูปแบบที่เป็นโปสเตอร์ และรูปแบบอื่นๆ เป็นทั้งภาษาเวียดนามและภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะมีการติดตั้งเบอร์ 115 ไว้ในคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ในเขตชุมชน ให้ชาวเวียดนามและนักท่องเที่ยวได้รู้จักและเรียกใช้บริการ แสดงให้เห็นว่าในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา เวียดนามมีการพัฒนาที่ก้าวหน้าในด้าน Pre –hospital care อย่างรวดเร็วกว่าเมืองไทย และไปได้ไกลกว่าที่คิด ...คิดแล้วเศร้าจริงๆ

มาพูดต่อถึงโรงพยาบาล Viet Duc เนื่องจากโรงพยาบาลนี้ มีอัตรากำลังทั้งแพทย์และพยาบาลไม่มากนัก ทางโรงพยาบาลจึงสร้างโรงเรือน ให้ญาติผู้เจ็บป่วยซึ่งส่วนมากเป็นผู้ป่วยทางสมอง ให้มีที่พักเพื่อคอยอยู่เฝ้าผู้เจ็บป่วย ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระงาน ช่วยเหลือแพทย์พยาบาลตั้งแต่ 10.00น. - 22.00 น. นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังจัดแพทย์ไปสอนให้ความรู้แก่ญาติ ถึงที่พักในโรงเรือนที่พักของญาติ เป็น knowledge delivery เลยเชียวแหละ และมีโปรแกรมการสอนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ญาติมีความรู้ในการดูแลผู้เจ็บป่วยในโรงพยาบาลได้ถูกต้อง และเมื่อกลับบ้าน ยังทำให้ญาติมีความรู้ติดตัวไปช่วยคนในชุมชนตนเองได้อีกด้วย ในวันที่ผู้เขียนไปดูงาน มีการสอนการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง ซึ่งญาติผู้เจ็บป่วยให้ความสนใจต่อการเรียนอย่างมาก ดูเหมือนว่าโรงพยาบาลนี้ ใช้วิธีตีเหล็กตอนร้อน กล่าวคือ เมื่อใครที่มีญาติพี่น้องเจ็บป่วยต้องนอนโรงพยาบาล ก็ย่อมต้องการที่จะเรียนรู้การดูแล ช่วยเหลือญาติพี่น้องของตนเองในยามเจ็บป่วย มากกว่ายามที่ผู้เจ็บป่วยยังสบายดีอยู่ และนี่เป็นอีกวิธีหนึ่ง ที่เค้ารู้จักเลือกเวลาในการสอนประชาชนได้อย่างเหมาะสม

ในการต้อนรับผู้มาศึกษาดูงาน ผู้เขียนเห็นเค้าใช้คนคุ้มค่าจริงๆ มีแพทย์เพียง 1 คน และ ผู้ช่วยอีก 1 คน ในห้องบรรยาย ซึ่งในการประชุมวิชาการฯ ก็เช่นกัน ผู้เขียนเห็นข้าราชการสุภาพสตรีชาวเวียดนามระดับรองอธิบดีท่านหนึ่ง เดี๋ยวท่านก็ไปเป็นพิธีกร เดี๋ยวท่านก็ไปเป็น Moderator เดี๋ยวก็ลงมาดูแลเรื่องอาหาร เรื่องเอกสาร เรื่องลงทะเบียน และอื่นๆอีกมากมาย ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าเจอเพื่อนร่วมโลก ที่เหมือนกันกับเรา เพราะเราก็ทำทุกอย่างแบบนี้เหมือนกันที่ศูนย์กู้ชีพนเรนทร โรงพยาบาลราชวิถี (เนื่องจากเป็นพยาบาลประจำเพียงคนเดียวในหน่วยงาน) ท่านทำได้ทุกอย่าง ไม่เห็นเหมือนที่เมืองไทย ใช้คนเปลื๊องเปลือง ส่วนในด้านการต้อนรับอื่นๆ เค้ายังใช้กระติกน้ำร้อนเก่าๆ ที่บ้านเราเคยใช้ชงนมให้เด็กเล็กๆ ซึ่งแลดูไม่เห็นมีความสวยงามอะไร จำได้ว่าในบ้านเราเคยมีใช้กันทั่วไป ตั้งแต่สมัยที่ผู้เขียนยังเด็กๆ คือกระติกน้ำร้อนตรานกยูง ตอนนี้ไม่เห็นมีใครใช้แล้ว แต่ชาวเวียดนามเค้ายังนำมาใช้ในการชงกาแฟเลี้ยงต้อนรับคณะดูงาน ซึ่งน้ำในกระติกดังกล่าว ก็ยังชงกาแฟได้รสชาดที่อร่อยไม่แพ้เครื่องชงกาแฟที่ราคาแพงๆ ( ร้านขายชากาแฟข้างถนน ก็ใช้กระติกลักษณะเช่นนี้เหมือนกัน .....ลืมถ่ายรูปมาให้ดูค่ะ)

ในอีกด้านหนึ่งของการดูงาน ผู้ร่วมทางอีกคนหนึ่งของผู้เขียน ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชม International safe community ทำให้ได้เห็นการวางแผนในด้านต่างๆที่มุ่งเน้นถึงความปลอดภัยในชุมชนเป็นสำคัญ เช่น ถ้าคนในชุมชนจะสร้างบ้านสักหลัง จะมีเจ้าหน้าที่ในชุมชน มาช่วยวางแผนสำรวจ ว่ามีเด็กหรือผู้สูงอายุกี่คน บ้านควรเป็นเช่นไร ความปลอดภัยของเด็ก การติดตั้งปลั๊กไป การทำพื้นกันผู้สูงอายุลื่น หรืออื่นๆที่เกี่ยวข้อง และดูเหมือนเค้าจะมีการเตรียมความพร้อมด้านภาษาอังกฤษกับคนรุ่นใหม่ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สังเกตว่าคนรุ่นใหม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ค่อนข้างดี อีกทั้งหนังสือหรือแผ่นพับต่างๆทางด้านสุขภาพ ได้จัดทำเป็นทั้งภาษาเวียดนาม และภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์ด้านความรู้ในการป้องกัน การปฐมพยาบาล การช่วยเหลือยามเจ็บป่วยฉุกเฉิน และเบอร์ฉุกเฉิน

และทั้งหมดนี้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเล่าในการประชุมวิชาการ ซึ่งเมื่อการประชุมฯ เสร็จสิ้น ผู้เขียนก็ใช้เวลาในการท่องเที่ยวไปด้วย จึงขอเล่าในด้านอื่นๆของเวียดนาม ที่ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมผัส โดยเฉพาะวิถีชีวิตของชาวเวียดนาม

ในวันที่ 3 -5 พฤศจิกายน 2551 ยังเป็นช่วงของการประชุมวิชาการฯ ในตอนเย็นๆ หลังเลิกการประชุม คือเวลาประมาณ 17.30 น ( ผู้เข้าประชุมส่วนใหญ่มักไม่มีใครกลับก่อนการประชุมเลิก ผิดกลับที่เมืองไทยอีกแล้ว ) ผู้ร่วมทางของผู้เขียนทั้ง 3 คน ซึ่งมีโอกาสได้ท่องเที่ยวตั้งแต่เช้า จะมารับผู้เขียนที่โรงแรมที่จัดการประชุมฯ เรา 4 คนจะเดินท่องฮานอยจนถึงประมาณ 5 ทุ่มของทุกคืน โดยไปหาอาหารเย็นกินกัน ตามร้านใหญ่ๆบ้าง ไม่ว่าจะเป็นสไตล์อเมริกา สไตล์ยุโรป หรือตามร้านข้างถนน ผลัดกันไปวันและแห่งสองแห่ง ได้อารมณ์ดี เมื่อพูดถึงร้านข้างถนน อันเป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของคนที่นี่ ซึ่งผู้เขียนตั้งชื่อว่า ร้านแหกขา ที่เรียกแบบนี้ เพราะถ้าลูกค้าเข้าไปใช้บริการ ต้องนั่งเก้าอี้ตัวเล็กๆสูงประมาณไม่ถึงฟุต ทำให้ขาของผู้นั่ง ไม่สามารถที่จะนั่งทำขาชิดติดกันได้ทั้ง 2 ขาเป็นเวลานานๆ ดังนั้น ถ้าจะให้สบายล่ะก็ จะต้องแยกขาหรือแหกขา จะทำให้ผู้นั่งรู้สึกสบายกว่ากันเยอะเลย และนี่คือเหตุผลและที่มา ของการที่เรียกว่าร้านแหกขา ซึ่งผู้ร่วมทางทุกคนของผู้เขียนเห็นด้วยกับการตั้งชื่อนี้ ร้านค้าที่ตั้งอยู่ริมฟุตบาท ยาวไปตาม 2 ฝั่งถนน ดูเป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของชาวเวียดนาม มีทั้งร้านค้าที่ขายอาหารทะเล ที่สดมากๆ โดยเฉพาะอาหารประเภทหอย มีรสชาดที่หวานอร่อยจริงๆ ถ้ามาเวียดนามต้องลองมาแวะ0ชิมให้ได้ แต่จะต้องเป็นร้านแหกขาข้างฟุตบาทนะ แล้วจะพบว่าการอิ่มอร่อยอยู่ข้างถนนนั้นเป็นอย่างไร นอกจากนี้ ยังมีเครื่องดื่ม ผลไม้ ปลาหมึกย่าง ปาทั่งโก๋ และที่มีอยู่มากที่สุด เห็นจะเป็นเฝอ ซึ่งผู้เขียน ไม่รู้หรอกว่าร้านไหนอร่อย ต้องสังเกตเอาเอง คือเลือกร้านที่มีลูกค้ามากๆ นั่นแหละ น่าจะเชื่อได้ว่าอร่อย ในแต่ละร้าน มีลูกค้ามานั่งอุดหนุนโดยนั่งล้อมรอบเป็นวงกลมรอบโต๊ะที่ตั้ง ซึ่งลูกค้าจะหนาแน่นมากขึ้น ในช่วงเวลาตอนเย็นๆจนถึง 5 ทุ่ม ดูเหมือนว่านอกจากชาวเวียดนามจะมาหาซื้ออะไรกินกันแล้ว ร้านค้าแต่ละแห่งก็ยังเป็นที่พบปะสังสรรค์ของชาวเวียดนาม ในยามเย็นหลังเลิกงานอีกด้วย พอใกล้ถึงเวลา 5 ทุ่มแต่ละร้านก็จะเก็บข้าวของเตรียมกลับบ้าน รถราดูบางตา ไฟฟ้าบนถนนหนทางเริ่มดับ ทำให้บรรยากาศโดยรอบเมืองฮานอย ดูมืดสลัวลงในทันที แต่ก็ยังมีลูกค้าบางกลุ่มที่ยังคงนั่งอยู่ตามร้านค้าข้างฟุตบาท ยังคงจับกลุ่มนั่งคุยกันต่อสักพักในความมืด ก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับที่พัก เป็นอันสิ้นสุดยามราตรีในเมืองฮานอยของทุกคืน ผู้เขียนก็ถือเวลานี้เช่นกันในการที่จะกลับโรงแรมที่พัก เพื่อพักผ่อน น่าสังเกตว่าในเวลาตั้งแต่ 5ทุ่มขึ้นไปจนเกือบถึงเช้ามืด แทบจะไม่ได้ยินเสียงบีบแตรของรถราบนท้องถนน อาจจะเป็นเพราะชาวฮานอยรู้ว่าเป็นเวลาพักผ่อนของพวกเค้าทุกคนก็เป็นได้

พอรุ่งเช้า สองฝากถนนริมฟุตบาท จะมีแม่ค้าหาบผลไม้ต่างๆมาวางขายอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ยาวเป็นแถวสองข้างถนน ส่วนบริเวณใกล้สี่แยก จะเห็นสาวๆถีบจักรยานบรรทุกตะกร้าดอกไม้สีสันสวยงาม มาจอดขายผู้คนที่ผ่านสัญจรไปมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถมอเตอร์ไซค์วิ่งกันเต็มท้องถนน ท่ามกลางความวุ่นวายสับสนของรถราและเสียงแตรรถอันเป็นสัญญาณของวันใหม่ในฮานอย ทำให้ 2 ข้างถนนมีชีวิตชีวาอย่างไม่มีที่ไหนเหมือน และอาจจะเป็นเพราะ บนถนนไม่มีเลน ทุกคนจึงต่างมีสิทธ์บนถนนกันคนละแบบ คนขับรถก็ขับไป คนข้ามถนนก็ข้ามไป คนขายของก็ขายไป บางคนพาลูกเล็กเด็กแดงมาเดินออกกำลังกายและวิ่งเล่นอยู่ข้างถนนก็ยังมี ดูต่างคนต่างไม่เคยหงุดหงิดซึ่งกันและกัน คนขับรถก็ชะลอรถให้คนข้ามและพยายามหลบแม่ค้าที่ขายของอยู่ข้างถนน ( ซึ่งสายๆแม่ค้าก็จะเก็บหาบกลับบ้านกันหมด)0 คนข้ามถนนก็ต้องเดาใจคนขับรถให้ถูก ว่าจะอ้อมหน้าหรืออ้อมหลังเรากันแน่ ผู้เขียนได้เคล็ดลับของการเดาใจก็คือเมื่อข้ามถนนในเวียดนาม อย่ามัวแต่เงะงะ หยุดๆ เดินๆ แต่ให้เดินไปเรื่อยๆ ถ้ากลัวก็อย่าเหลียวมองรถรามากนัก แล้วคนขับรถจะกะระยะเองว่า จะขับอ้อมหน้าหรืออ้อมหลังเราดี สุดแท้แต่เขาเถอะ รับรองไม่ถูกชนแน่ๆ ซึ่งผู้เขียนลองมาแล้ว จึงข้ามถนนในฮานอยได้อย่างสบายมาก แต่ถ้าใครลองแล้วไม่ได้ผล ก็ตัวใครตัวมันก็แล้วกัน ผู้เขียนเคยเห็นเด็กสาวคนหนึ่งที่เดินแล้วหยุดบนถนน จึงถูกรถชน แต่ไม่บาดเจ็บอะไรมาก คนถูกชนก็ลุกขึ้นเดินไปขึ้นฟุตบาท คนที่ชนก็ลุกขึ้นยกรถที่ล้มขึ้นมาขับต่อ ไม่เห็นมีใครเอาเรื่องเอาราวต่อกัน ต่างคนต่างเลิกแล้วต่อกัน ราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น นี่แหละนะ..เวียดนามที่ผู้เขียนได้พบและเห็น วิถีชีวิตเช่นนี้ ยังคงมีให้เห็นอยู่ในเวียดนามทุกๆวัน ซึ่งชาวเวียดนามอาจจะยังคงต้องการอนุรักษ์ไว้ก็เป็นได้ เพราะจากที่ผู้เขียนได้เข้าร่วมประชุมวิชาการฯในครั้งนี้ ซึ่งเน้นไปในเรื่อง Prevention ได้มีการพูดถึงการ Prevention ในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่นการสวมหมวกกันน็อค การรณรงค์พัฒนาชุมชนให้มีความปลอดภัย การประชาสัมพันธ์เบอร์ฉุกเฉิน การสอนประชาชนให้มีความรู้ในการปฐมพยาบาล และรู้วิธีการแจ้งเหตุฉุกเฉิน หรือการพัฒนา Pre hospital care ก็ตาม แต่ไม่ยักกะพูดถึงการจัดระเบียบการจราจร การจัดเส้นทางจราจร การวางแผงลอยข้างฟุตบาท หรือการข้ามถนน มีแต่โครงการสอนเด็กให้รู้จักการข้ามถนนที่ปลอดภัย ซึ่งไม่ได้พูดถึงวิถีชีวิตของชาวเวียดนามในการข้ามถนนในปัจจุบัน หรืออาจจะเป็นเพราะการสอนผู้ใหญ่ สอนได้ยาก สู้สอนเด็กดีกว่า สอนง่ายกว่ากันเยอะเลย มีอีกเหตุผลหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่าชาวเวียดนามต้องการอนุรักษ์วิถีชีวิตนี้ ไว้ ก็เพราะตอนที่ผู้เขียนไปเที่ยวฮาลองเบย์ ( ซึ่งจะเล่าต่อไป) เมื่อเราพูดถามไกด์ถึงวิถีชีวิตบางสิ่งบางอย่างในเวียดนาม ว่าทำไมไม่อย่างโน้น ทำไมไม่อย่างนี้ ไกด์มักจะยิ้มและตอบแบบอารมณ์ดีว่า Yes .. yes... I agree , but this is Vietnam . ทำให้ผู้เขียนต้องเลิกถามต่อ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนต้องยอมรับว่า ชอบวิถีชีวิตในยามเช้าบน 2 ฟากถนนของฮานอยเสียจริงๆ เพราะดูเหมือนมีมนต์เสน่ห์บางอย่าง ทำให้ผู้เขียนอยากกลับไปเที่ยวที่ฮานอยอีก

ขอพูดถึงร้านค้าขายของชาวเวียดนาม หรือที่ผู้เขียนขนานนามว่า ร้านแหกขา อีกสักหน่อย อันมีลักษณะเป็นร้านที่เป็นโต๊ะและเก้าอี้เล็กๆ 2 ข้างถนน สูงไม่น่าจะถึง 1 ฟุต ผู้เขียนคิดในฐานะที่ไม่ได้เป็นนักเศรษฐศาสตร์อะไร แต่คิดแบบว่าอยากคิดนี่แหละ ว่าชาวเวียดนามไม่ได้ใส่ใจในโครงสร้างของร้านค้ามากนัก ไม่จำเป็นต้องสร้างร้านค้าใหญ่โตอะไร ทำให้ไม่ต้องมีต้นทุนสูง (มีบ้างที่มีร้านค้าตกแต่งสวยงาม ทันสมัย รวมถึงร้านอาหารไทยของคนไทย ซึ่งมีไม่มากนัก แต่สังเกตว่าเป็นร้านค้าที่เน้นกลุ่มเป้าหมายไปที่นักท่องเที่ยวมากกว่า เพราะผู้เขียนและผู้ร่วมทาง ได้เคยเข้าไปใช้บริการด้วยเหมือนกัน ซึ่งเจอแต่นักท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่) ฉะนั้นชาวเวียดนามก็จะมีกำลังซื้อได้ตามอัตภาพ ถึงแม้เศรษฐกิจจะไม่ดีอย่างไร ผู้ขายก็คงไม่ขาดทุน ผู้ซื้อก็ยังคงมีเงินซื้อได้เรื่อยๆ คนขายไม่มีใครเจ๊ง คนซื้อก็พอมีกำลังซื้อไม่อดตาย ไม่ใครเครียด จนต้องฆ่าตัวตายเหมือนอย่างบางประเทศ และนี่แหละที่บ่งบอกว่า...ชาวเวียดนามเค้าทำและอยู่ในสิ่งที่มีอยู่จริง ไม่ใช่อยู่ในสิ่งที่ฝัน ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้ฝัน แต่หมายความว่า ถ้าเราฝันแล้วมันยังไม่ถึงฝัน ก็ต้องพยายามทำให้ถึง แต่ตอนที่ยังไม่ถึงที่ฝันไว้ ก็ต้องอยู่ในโลกแห่งความจริงด้วย ว่าเรามี ว่าเราเป็น ว่าเราทำ อะไรได้บ้าง แล้วทำสิ่งที่เรามีอยู่ สิ่งที่เราเป็นอยู่ ให้ดีที่สุด พร้อมๆกับตามไปให้ถึงความฝันที่วาดไว้ พูดแบบนี้ จะยิ่งงงมั๊ยนี่

ในคืนที่ 3 ของการใช้ชีวิตในฮานอย ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปชม Water Puppet Show ที่มีชื่อเสียงของเวียดนาม อดเปรียบเทียบไม่ได้ว่า ถึงแม้จะเป็นการแสดงที่แปลก แต่ถ้าดูในเชิงศิลปะแล้ว ตัวหุ่นดูแข็งๆ ไม่อ่อนช้อย เทียบกับเมืองไทยไม่ได้เลย โดยเฉพาะหุ่นละครเล็ก ซึ่งมีลีลาอ่อนช้อย งดงาม ทั้งหุ่นและผู้เชิด ตาดู Puppet Show แต่ใจก็นึกเปรียบเทียบกับหุ่นของไทยด้วยความภาคภูมิใจในศิลปะที่บรรพบุรุษไทยได้สืบสานตกทอดกันมาหลายชั่วคนจนถึงปัจจุบัน ผู้เขียนคิดว่า เวียดนามสู้เราไม่ได้จริงๆเฉพาะในเรื่องนี้

ในเช้าวันศุกร์ที่ 7 พฤศจิกายน 2551 อันเป็นวันเสร็จสิ้นการประชุมฯแล้ว ผู้เขียนและผู้ร่วมทางได้พากันไปจองทัวร์เพื่อเดินทางไปฮาลองเบย์ ซึ่งทัวร์นี้มีคนไทยแนะนำมา โดยมีรถของทัวร์มารับหน้าโรงแรมที่พัก และพาเราทั้ง 4 คนขึ้นรถ ตลอดเส้นทางของถนนที่ผ่าน ผู้เขียนได้เห็นการจอดรถจักรยานยนต์ของชาวเวียดนาม ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย แสดงถึงการมีวินัยในการจอดรถ ที่คนไทยน่าจะเอาเป็นเยี่ยงอย่าง บนรถมีลูกทัวร์จากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นชาวอเมริกัน ชาวยุโรป ชาวสิงคโปร์ ชาวฝรั่งเศส ชาวฮอลแลนด์ หรือชาวสแกนดิเนเวีย ฯลฯ รวมทั้งหมดประมาณ 20 คนเห็นจะได้ ทำให้เราได้พบเพื่อนใหม่หลายคน โดยเฉพาะเพื่อนใหม่ชาวฮอลแลนด์ ซึ่งพอรู้ว่าคณะของเรา 4 คน มีพยาบาลมาด้วย ก็มาปรึกษาและนำยาที่ได้จากโรงพยาบาล Viet Duc (เจอโรงพยาบาลนี้อีกแล้ว) มาให้ดู เพราะได้รับจากการที่ไปตรวจที่โรงพยาบาล Viet Duc จากสาเหตุอุบัติเหตุหกล้ม คอฟาดพื้น แพทย์ได้เอกซเรย์และให้ยามากิน แต่ผู้ป่วยไม่กล้ากิน เพราะไม่รู้ว่าเป็นยาอะไร และเจ้าหน้าที่ที่โรงพยาบาลพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ จึงไม่ค่อยเข้าใจกัน พวกเราเช็คดู พบว่าเป็นยา Muscle relaxant คือ Mydocalm และยาแก้ปวด จึงอธิบายให้ฟัง เค้าจึงเข้าใจและยอมกินยา หลังจากนั้นชาวฮอลแลนด์ทั้ง 2 คนเลยเข้ามาอยู่ในทีมของพวกเราเสียเลย ไปไหนก็มักร่วมด้วยช่วยกันในเกือบทุกเรื่อง ช่วยพวกเราลากกระเป๋า โดยเฉพาะกระเป๋าของผู้เขียนที่หนักกว่าใครเพื่อน เนื่องจากมีเอกสารจากการประชุมฯหลายเล่ม ล้วนแต่หนักๆทั้งนั้น พวกเรา4 คนเลือกนอนค้าง1คืนในเรือ ซึ่งลูกทัวร์บางส่วนเลือกที่จะนอนในโรงแรมที่พักบนเกาะ ทำให้ทุกคนที่พักบนเรือได้มีโอกาสพูดคุยกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ( ก็ดี..จะได้ฝึกภาษาด้วย มากันหลายประเทศ คนละสำเนียง แต่ก็ผ่านไปด้วยดี) ทุกคนพอรู้ว่าเรามาจากกรุงเทพ หลายคนบอกว่า ความจริงต้องการไปเที่ยวเมืองไทย แต่ไม่แน่ใจในสถานการณ์บ้านเมือง จึงเปลี่ยนมาเที่ยวเมืองอื่นแทน และยังซักถามถึงสถานการณ์ในกรุงเทพว่าเป็นอย่างไร ผู้เขียนกับทีม ตอบเหมือนกันว่า Everything is OK พร้อมทำหน้าที่แทนกระทรวงการท่องเที่ยวอีกเช่นเคย โดยเชิญชวนลูกทัวร์เหล่านั้นมาเที่ยวเมืองไทย พร้อมโฆษณาชวนให้เขาเชื่อในสิ่งดีๆที่มีอยู่ในเมืองไทย ไม่รู้ว่ามีใครหลงเชื่อมาเที่ยวเมืองไทยและกลับบ้านไม่ได้เพราะมีการปิดสนามบินบ้างหรือเปล่า คงด่าผู้เขียนยับเลย (มิน่าล่ะ ..ช่วงนั้นผู้เขียนจามบ่อยๆ กินยาแก้แพ้ก็ไม่หาย สงสัยถูกคนด่าลับหลังก็อาจเป็นได้) ส่วนเพื่อนใหม่ชาวฮอลแลนด์ทั้ง 2 รับปากจะมาเยี่ยมเราอีกที ที่เมืองไทยในเดือน กุมภาพันธ์ 2552 ที่จะถึงนี้

พูดถึงบรรยากาศของฮาลองเบย์ ก็สวยงามดี แต่ผู้เขียนเห็นว่า ทะเลฝั่งกระบี่ หรือพังงา โดยเฉพาะเขาพิงกัน ดูสวยกว่า เพราะนอกจากน้ำทะเลจะมีสีฟ้าที่สวยงามกว่าแล้วยังดูสะอาดมากกว่าฮาลองเบย์ตั้งเยอะ ตามถ้ำต่างๆที่เค้าแวะให้ชม ก็งั้นๆ ไม่เห็นว่าจะสวยงามกว่าถ้ำในเมืองไทยเท่าไรนัก ถ้าจะซื้อของที่นี่ ต้องต่อให้สุดๆ ต่อราคาครึ่งหนึ่งเลย และนี่ก็เป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่เมืองไทยสู้เวียดนามได้อย่างสบายมาก ส่วนบริการในเรือ คนไทยกินขาดในทุกๆด้าน ชาวเวียดนามหรือชาติไหนๆในโลกก็สู้เราไม่ได้ เราคงต้องพัฒนาจุดแข็งข้อนี้ เพื่อเป็นจุดขายต่อสู้กับชาติอื่นๆในโลกให้ได้

การมาฮาลองเบย์ในครั้งนี้ ทำให้ได้บทเรียนหลายอย่าง ตัวอย่างเช่น ในการจองทัวร์บอกว่าห้องพักติดเครื่องปรับอากาศและคิดเงินเรเในราคาห้องติดเครื่องปรับอากาศ พอไปถึงจริง มีเครื่องปรับอากาศ แต่ไม่มี Remote ห้องน้ำและประตูห้องไม่มีที่ล็อค สอบถามลูกทัวร์ชาติอื่นๆก็บอกว่าไม่เป็นไปอย่างที่ตกลงกันไว้หลายข้อ แต่ไม่ยักกะมีใครคิดเอาเรื่อง ในฐานะที่เป็นคนไทย ถ้าคิดจะทำอะไร ไม่แพ้ชาติใดในโลก เราจึงต้องปลุกไกด์ตอน 4 ทุ่ม มาจัดการแก้ปัญหาให้เรา และเพื่อให้เป็นไปอย่างที่ตกลง เขาจึงนำ Remote มาให้ ส่วนเรื่องประตูห้องน้ำซึ่งมีปัญหาว่าเมื่อเปิดเข้าไป จะเปิดออกมาไม่ได้ เพราะด้านในไม่มีที่จับ และประตูฝืดมาก ผู้เขียนยึดสุภาษิตที่ว่า สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ และเพราะลูกเรือพูดกันไม่รู้เรื่องเนื่องจากภาษาอังกฤษเขาอ่อนแอ ผู้เขียนจึงสาธิตให้ดู โดยให้ลูกเรือคนหนึ่งเข้าไปในห้องน้ำพร้อมกับปิดประตู หลังจากนั้นก็ให้ลูกเรือคนดังกล่าว ลองเปิดประตูเพื่อออกจากห้องน้ำ เค้าก็เปิดไม่ออก ผู้เขียนจึงลองขังอยู่สักพัก เพื่อให้เค้าเข้าใจความรู้สึกของลูกทัวร์ที่เปิดประตูห้องน้ำไม่ออกว่ามันเป็นอย่างไร ลูกเรือร้องเอะอะโวยวาย ผู้เขียนจึงเปิดประตูออกให้จากด้านนอก เมื่อออกจากห้องน้ำได้แล้ว ลูกเรือคนนั้นก็เดินกลับไปบอกไกด์ และบ่นอะไรไม่รู้ ซึ่งผู้เขียนฟังไม่รู้เรื่อง แต่ที่แน่ๆ คงต้องเข็ดไปอีกนาน เมื่อไกด์มาถึง ผู้เขียนหวังจะสาธิตแบบเดิมอีก โดยจะให้ไกด์ลองเข้าไปในห้องน้ำเหมือนลูกเรือคนนั้น แต่ไกด์ไม่ยอมเข้า และพูดว่า I see ...I see ,he told me already ขอโทษขอโพย ซึ่งเราก็ยกโทษให้ อีกทั้งยังบอกว่าจะมี Sea Food แต่พอเอาเข้าจริง กลับมีแต่ปลาและปลาหมึกผัดกับผัก เสียอย่างงั้น ไม่ยักกะมีปลา หรือปู หรือหมึกเป็นตัวๆอย่างที่เราคิด และยังมีอื่นๆอีกมากมายที่ประทับใจเราไม่หาย ทั้งๆที่มีคนไทยแนะนำทัวร์นี้มานะ ยังเป็นแบบนี้ เลยไม่รู้ว่า คนไทยหรือคนเวียดนามกันแน่ ที่หลอกเรา มีนักท่องเที่ยวและหนังสือที่แนะนำการท่องเที่ยวหลายเล่ม บอกไว้ว่า ถ้ามาเวียดนามแล้วไม่ถูกหลอกบ้าง แปลว่ายังมาไม่ถึงเวียดนามอย่างแท้จริง แสดงว่าผู้เขียนและคณะได้มาถึงเวียดนามอย่างแท้จริงแล้วล่ะสิ และเพื่อไม่ให้เสียชื่อคนไทยที่ใครจะมาหลอกกันง่ายๆไม่ได้ พอกลับมาจากฮาลองเบย์ พวกเราจึงมุ่งตรงไปยังบริษัทที่จองทัวร์ ต่อว่าต่อขานเสียหลายเรื่อง เราถามเรื่อง Sea Food เค้าอธิบายว่า ก็มี ปลา ปู หมึก ผัดกับผักนั่นแหละ คือ Sea Food แล้ว แหม... แก้ตัวมาได้ สุดท้ายเค้าก็ยอมขอโทษ และรับปากว่าจะปรับปรุงในทุกสิ่งที่เกิดขึ้น อีกทั้งจะแสดงความรับผิดชอบ โดยจะพวกเราไป Drink เพื่อขอโทษ บังเอิญพวกเราเป็นคนดีเสียด้วย จึงไม่มีใครต้องการรับการขอโทษโดยวิธีนี้ เพียงแต่ต้องการให้ข้อมูลเพื่อจะได้ไม่ไปหลอกใครอีก( ไม่รู้ว่าจะเชื่อในการรับปากของบริษัททัวร์ได้หรือเปล่า) และพวกเรายังขู่ว่าจะไปบอกรัฐบาล (หัวหมอเสียด้วย) และจะลงใน Web site การท่องเที่ยวที่เมืองไทย ให้นักท่องเที่ยวได้รู้โดยทั่วกัน ( ขณะเขียนต้นฉบับนี้ ...ก็ยังไม่ได้ไปลงเลย)

วันที่เดินทางกลับจากฮาลองเบย์ มีรถมารับเราพร้อมลูกทัวร์คนอื่นๆ เดินทางกลับไปพักที่ฮานอย 1 คืน เพื่อจะกลับเมืองไทยในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น ลืมเล่าว่าในวันแรกที่นั่งรถมาฮาลองเบย์ พอรถแล่นมาได้สักพัก ไกด์บอกว่า แอร์เสีย เราจึงต้องเปิดหน้าต่างออก แต่เปิดออกมากไม่ได้ เพราะอากาศภายนอกค่อนข้างเย็น ทุกคนจึงรู้สึกอึดอัดเพราะการถ่ายเทอากาศไม่ดี ในวันที่นั่งรถกลับจากฮาลองเบย์มายังฮานอย ก็ไม่มีการเปิดแอร์เหมือนเดิม ผู้ร่วมทีมคนไทยคนหนึ่งที่มากับผู้เขียน จึงถามไกด์(คนละคนกับวันแรก) ว่า ทำไมไม่เปิดแอร์ ไกด์บอกเหมือนเดิมว่า แอร์เสีย ผู้ร่วมทีมคนที่ถามจึงพูดต่อว่า Yesterday not work ,today not work again . หลังพูดจบยังไม่ทันไร ก็มีเสียงเพื่อนต่างชาติชาวฮอลแลนด์พูดเสริมทันทีว่า Everyday not work. ทำให้ทุกคนทุกเชื้อขาติในรถหัวเราะขำกลิ้ง รวมถึงไกด์ด้วยที่หัวเราะเจื่อนๆ ผู้เขียนคิดว่าเป็นแทรคติกของบริษัททัวร์แน่ๆ ที่จะsave ต้นทุนค่าใช้จ่ายให้ลดลง และเมื่อมองรถคันอื่นๆที่แล่นมาด้วยกัน ก็ล้วนแล้วแต่ต้องเปิดหน้าต่างกันทุกคัน ทั้งๆที่อากาศข้างนอกหนาวเย็น และด้วยจะเหตุผลอะไรก็ตาม ผู้เขียนรู้สึกได้ว่า เค้าหลอกเราอีกแล้ว เราว่าคนไทยหลอกเก่ง พอเจอเข้าจริง คนเวียดนามมีการพัฒนาการหลอกล่อได้เก่งกว่าคนไทยตั้งเยอะ ผู้เขียนเชื่อในเวรกรรม จึงคิดว่า คนไทยอาจจะเคยหลอกคนต่างชาติมาเยอะ เวรกรรมจึงตามสนองให้ผู้เขียนซึ่งเป็นคนไทย ต้องถูกหลอกบ้าง หายกันไปแล้วกัน จะได้หมดเวรหมดกรรมกันเสียที แต่ถ้าไม่ใช่เพราะเวรกรรม ก็คงเป็นเพราะว่าเราโง่เองที่ให้เค้าหลอก แต่โง่ย่อมมาก่อนฉลาดเสมอ มันจึงเป็นบทเรียนให้เรารู้เล่ห์กลอุบายต่างๆมาเล่าให้ฟัง และถ้าได้กลับไปเวียดนามอีกเมื่อไร อย่าหวังว่าจะหลอกฉันได้อีก....แม้แต่นิดเดียว

พวกเรากลับมาถึงฮานอยและเข้าโรงแรมที่พักในเย็นวันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2551 พนักงานโรงแรมบอกว่า คืนนี้มี Night Market ตลอดเส้นทางของถนนในเมืองฮานอย พวกเราวางแผนที่จะไปช้อปปิ้งก่อนกลับบ้าน แต่ขอ Release tension ให้หมดเสียก่อน จะได้ช้อปได้อย่างสบายใจ พวกเราจึงมุ่งตรงไปยังบริษัททัวร์ซึ่งต้องเดินหาอยู่พักใหญ่เพราะลืมเส้นทาง และด้วยความมุ่งมั่นที่จะต้อง Release tension ให้ได้ เราจึงตกลงกันว่าอย่างไงเสีย ก็ต้องหาบริษัทที่เราจองทัวร์ให้พบ ฮานอยคงไม่กว้างขวางเกินที่จะหาไม่พบ ในที่สุดเราก็ได้พบบริษัททัวร์ดังกล่าว และต่อว่าต่อขานดังที่ได้เล่ามาแล้ว เมื่อทุกคนได้ Release tension เราตกลงที่จะกินข้าวเย็นก่อนไปช้อปปิ้ง เพราะจะได้ช้อปได้นานๆ วันนั้นเราไปร้านอาหารไทย และสั่งอาหารไทยรสจัดมากิน ได้แก่ ผัดกะเพราะไก่ , ไข่เจียว (อาหารสิ้นคิดในเมืองไทย แต่ในต่างแดนมันคืออาหารเลิศรสที่สุดของพวกเรา ) แกงป่ากุ้ง เป็นต้น เผ็ดถูกใจจริงๆ ซึ่งนับเป็นอาหารไทยมื้อแรกในเวียดนาม อร่อยสมใจนึก และคงจะเป็นความอร่อยจากผงชูรส จึงทำให้พวกเรากระหายน้ำกันยกใหญ่ในคืนนั้น พอกินข้าวเย็นเสร็จ ต่างคนต่างก็พากันไปเดินช้อป มีของขายมากมาย ราคาก็ถูก ถูกกว่าเมืองไทยเสียอีก การคิดค่าเงินด็องให้เป็นเงินบาท มีวิธีคิดง่ายๆคือ ตัดเลข 0 สามตัวหลังของราคาเงินด็องออก แล้วคูณด้วย 2 จะเป็นราคาของเงินบาท ตัวอย่างเช่น ถ้าสินค้าราคา 20,000 ด็อง ก็ตัดเลข 0 สามตัวหลังออก จะเหลือ 20 แล้วคูณด้วย 2 จะเท่ากับประมาณ 40 บาท เห็นมั๊ยล่ะ ไม่ยากอย่างที่คิดเลย ถ้าได้ไปฮานอย อย่าลืมไปช้อปปิ้งที่ Night Market ก็แล้วกัน

การช้อปปิ้งคืนสุดท้ายในฮานอย เรา4 คน เริ่มต้นเดินไปด้วยกันเป็นกลุ่ม มีผู้คนมากมายออกมาจับจ่ายซื้อของกันแน่นขนัด ทำให้พวกเราต้องเดินเบียดๆกัน ตอนแรกเรายังคงจับกลุ่มกันได้ ต่อๆมาชักเริ่มแตกกลุ่ม เพราะเกิดการเบียดเสียดของผู้คนที่เป็นทั้งชาวเวียดนามเอง และนักท่องเที่ยว ซึ่งต่างก็ออกมาช้อปปิ้งเช่นเดียวกับพวกเรา จนในที่สุด เราต่างก็แยกย้ายกันไปตามแต่ใจใครจะชอบ โดยจะติดต่อกันทางโทรศัพท์ ในการเดินตลาด ทำให้พบว่า คนเวียดนามเป็นมิตรและรักคนไทย พอรู้ว่าพวกเป็นคนไทย เค้าจะยิ้มแย้มแจ่มใสและพยายามพูดภาษาไทยกับเรา แถมเรายังสามารถต่อรองราคาชนิดสุดๆได้อีกด้วย บางคนบอกว่าลดให้เพราะเป็นคนไทย (ไม่รู้ว่าพูดกับนักท่องเที่ยวเหมือนกันทุกชาติหรือเปล่า หรือว่าเราจะถูกหลอกอีกแล้วก็ไม่รู้ ) ในการซื้อขาย ของพ่อค้าแม่ค้าในฮานอย ส่วนใหญ่เราสามารถจับจ่ายด้วยเงินไทยได้ ผู้เขียนช้อปปิ้งจนต้องขอยืมเงินผู้ร่วมทางและมาใช้คืนที่เมืองไทยในภายหลัง เพราะเวลาช็อปปิ้งเป็นเวลาที่เราไม่มีใครขัดใจ แม่ค้าก็ตามใจเราทุกคน ผิดกับเวลาทำงาน เดี๋ยวหัวหน้าก็ขัดใจ เดี่ยวลูกน้องก็ขัดใจ ขัดใจไปเรื่อย และสิ่งที่ผู้เขียนได้ช้อปมาจากฮานอย ผู้เขียนก็ได้ใช้และนำมาฝากคนที่เมืองไทยจนหมด จึงไม่น่าจะถือว่าฟุ่มเฟือย ผู้เขียนช้อปปิ้งจนตลาดวายคือเวลาเกือบ 5 ทุ่ม ยังได้แวะข้างฟุตบาทข้างถน ที่มีเด็กหนุ่มอายุไม่ถึง 20 ปี นั่ง print รูปและเขียนตัวหนังสือตามที่ลูกค้าสั่งลงในผ้าที่เขียนเป็นรูปต่างๆไว้แล้ว มีให้เลือกหลายลาย ซึ่งผู้เขียนได้เลือกซื้อมา 2 ภาพเพื่อเป็นของฝากที่ระลึก ผู้เขียนช้อปจนไม่มีมือจะถือของ คืนนั้นพอกลับถึงโรงแรมที่พัก ก็ปาเข้าไปตั้งเกือบเที่ยงคืน ต้องเก็บข้าวของเตรียมกลับเมืองไทยตอนเช้าตรู่ กว่าจะได้นอนก็เป็นเวลากว่าตี 2ไปแล้ว

วันสุดท้ายในฮานอย พวกเราทุกคนต้องตื่นแต่เช้าโดยออกจากโรงแรมที่พักเวลาประมาณ 6 โมงเช้า ใช้เวลาประมาณ 45 นาทีก็ถึงสนามบิน และขึ้นเครื่องเวลาประมาณ 9 โมงเช้า ขณะอยู่บนเครื่อง ผู้เขียนและผู้ร่วมทางได้คุยกันไปอย่างเรื่อยเปื่อย แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเราทุกคนพูดและคิดเหมือนกันคือรู้สึกชื่นชมกับการพัฒนาของประเทศเวียดนามที่เราเห็นในวันนี้ เวียดนามไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด ในขณะเดียวกัน ก็รู้สึกเศร้าและหดหู่ในฐานะคนไทย ที่กลัวว่าบ้านเราจะเป็นอย่างไรหนอในอนาคตทั้งๆที่มีศักยภาพมากกว่าเวียดนามในทุกๆด้าน พวกเราเดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อเวลาประมาณใกล้เที่ยงวัน แล้วต่างคนต่างแยกย้ายกันกลับที่พัก เมื่อผู้เขียนกลับถึงที่พัก รู้สึกหมดสภาพอย่างไรบอกไม่ถูก จึงต้องนอนกลางวันทั้งๆที่ไม่เคยทำมาก่อน เพื่อซ่อมแซมสิ่งที่สึกหรอของร่างกาย (พูดเข้าไปนั่น..แต่มันเป็นเรื่องจริงๆนะ) เพราะมันรู้สึกเพลียๆชอบกล อันเป็นการสิ้นสุดการเดินทางไปเวียดนามด้วยความรู้สึกหลายๆอย่างในวันนั้น แต่ความรู้สึกอย่างหนึ่งคือความประทับใจในฮานอยซึ่งจะยังคงอยู่กับพวกเราตลอดไป พวกเราคิดกันว่า เราจะกลับมาใหม่ ถ้ามีโอกาส และเราทุกคนจะคอยเฝ้าจับตามองเวียดนามในอนาคต อย่างไม่กะพริบตาเลยเชียว

ถึงแม้จะกลับมาเมืองไทยแล้ว แต่ผู้เขียนก็ยังได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับเวียดนาม ที่ตอกย้ำให้ผู้เขียนอดคิดไม่ได้ว่า เวียดนามจะต้องมีการพัฒนาและเจริญก้าวหน้ากว่าเมืองไทยในไม่ช้านี้อย่างแน่ๆ เพราะราว 1 อาทิตย์หลังกลับจากเวียดนาม ผู้เขียนได้ไปประชุม ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพ มีวิทยากรท่านหนึ่งพูดชื่นชมในความขยันของชาวเวียดนามว่า คนเวียดนามตายเพราะขยัน พอวันต่อมา มีน้องคนหนึ่ง ที่กำลังเรียนปริญญาโทในมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง พูดอีกว่า อาจารย์ที่สอนหนังสือ ได้พูดเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในเมืองไทย และแนะนำให้ไปช้อนซื้อหุ้นของประเทศเวียดนามไว้ เพราะต่อไปจะมีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจที่ดีกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาคนี้รวมถึงประเทศไทยด้วย นี่ขนาดกลับเมืองไทยมาแล้วนะ แต่ชื่อของ “เวียดนาม”ยังตามมาหลอกมาหลอก ตอกย้ำความคิดของผู้เขียนในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ให้เศร้าและหดหู่ใจยิ่งขึ้น สิ่งสุดท้ายที่ตอกย้ำจิตใจของผู้เขียนในช่วงเวลานี้ ก็คือการพ่ายแพ้ฟุตบอลของทีมชาติไทยต่อทีมชาติเวียดนาม เมื่อเดือน ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ผู้เขียนต้องบอกกับตัวเองว่า นี่เวียดนามจะพัฒนากว่าเมืองไทยในทุกๆด้าน ไม่เว้นแม้แต่ด้านการกีฬาจริงๆหรือ และยิ่งทำให้ผู้เขียนหวั่นใจ ว่าเมืองไทยคงจะต้องล้าหลังประเทศเวียดนามในอีกไม่ช้า ไม่เว้นแม้แต่ด้านการกีฬา ซึ่งผู้เขียนได้แต่ภาวนา ขออย่าให้เป็นอย่างนั้นเลย แต่ใครจะห้ามได้ล่ะ และผลในอนาคตจะเป็นอย่างไร เราก็คงต้องคอยดูกันต่อไป

สรุป

จากการที่ผู้เขียนได้เดินทางไปประชุมวิชาการและนำเสนอผลงานวิจัย ณ เมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 3- 6 พฤศจิกายน 2551 และอยู่เที่ยวต่อจนถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2551 นั้น นอกจากจะทำให้ผู้เขียน ได้มีโอกาสและประสบการณ์ในการนำเสนอผลงานวิจัยระดับนานาชาติ ได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น ประสบการณ์ กับบุคลากรด้านสาธารสุข ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก นำมาสู่การสร้างเครือข่ายที่ดี และการพัฒนาตนเองในด้านวิชาการในอนาคตแล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญในฐานะคนไทยคนหนึ่ง คือทำให้เห็นว่าถึงแม้ประเทศเวียดนามเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาหลังสงคราม แต่ด้วยความมุ่งมั่นในการทำงานของรัฐบาล ของกระทรวงสาธารณสุขเวียดนาม และของชุมชนชาวเวียดนาม จึงทำให้เวียดนามสามารถจัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติได้ จนประสบผลสำเร็จด้วยดี และจากการศึกษาดูงานในวันสุดท้าย ทำให้เห็น ว่าประเทศเวียดนามมีการพัฒนาในหลายๆด้าน ซึ่งเกิดจากความมุ่งมั่นของชาวเวียดนามทุกๆคนโดยแท้จริง จนเกิดโครงการหลายโครงการที่น่าเอาเป็นแบบอย่าง มีเบอร์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินเป็นเลข 3 หลัก คือ115 ดีกว่าไทย ที่มีถึง 4 หลักคือ1669 ทำให้จำได้ยากกว่า มีการรณรงค์ให้ประชาชนรู้จักเบอร์ฉุกเฉิน ซึ่งนับว่าประสบผลสำเร็จ เพราะประชาชนส่วนใหญ่รวมถึงเด็กชั้นประถมรู้จักเบอร์ 115 เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังได้พบเห็นสิ่งดีๆในด้านอื่นๆอีกมากมาย ที่เกิดขึ้นในเวียดนาม ไม่เฉพาะแต่ในด้านสาธารณสุขเท่านั้น ดูเหมือนว่า จุดอ่อนของเวียดนามที่ยังคงสู้ประเทศไทยไม่ได้ คือ การให้บริการ ฉะนั้นประเทศไทยน่าจะเอาจุดแข็งของการให้บริการมาพัฒนา ให้เป็นจุดขายเพื่อแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในโลก

อย่างไรก็ตาม ตามความคิดของผู้เขียน ผู้เขียนกล่าวได้เต็มปากว่า ประเทศเวียดนาม ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาประเทศหลังภาวะสงครามได้อย่างน่าชื่นชมและน่าเอาเป็นแบบอย่าง โดยอาศัยความมุ่งมั่นของรัฐบาลและของชาวเวียดนามทุกคน ที่มีแต่ความขยันขันแข็ง บนพื้นฐานสภาพความเป็นจริงของประเทศ ภายใต้ข้อจำกัดและบริบทที่อาจเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆไม่ได้ แต่ประเทศเวียดนามสามารถทำได้อย่างแทบไม่น่าเชื่อ พร้อมๆกันนั้น ยังคงดำรงวิถีชีวิตของชาวเวียดนาม ที่มีมนต์เสน่ห์ไว้ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัส ฉะนั้นผู้บริหารประเทศไทยและชาวไทยทุกคนโดยเฉพาะข้าราชการไทย คงต้องทบทวนบทบาทและความมุ่งมั่นให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ในการร่วมแรงร่วมใจอย่างเต็มความสามารถที่จะพัฒนาประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเราเสียแต่วันนี้ แม้ว่าจะมีการเดินทางไปศึกษาดูงานที่อเมริกา ยุโรป หรือที่ประเทศไหนๆก็แล้วแต่ เพื่อทำฝันให้เป็นจริง ก็ทำไปเถอะ แต่ขณะที่กำลังตามฝัน คงต้องเหลียวกลับมามองและอยู่ในความเป็นจริงของเราด้วย ทำสิ่งที่มีให้ดีที่สุด พร้อมๆกับการตามฝันให้เป็นจริง เพราะอย่าว่าแต่จะคิดตามอเมริกา ยุโรป หรือประเทศที่เจริญแล้ว ให้ทันเลย เมื่อหันกลับมามองอีกที เวียดนามอาจวิ่งแซงโค้งเราไปถึงไหนถึงไหนแล้ว ทั้งๆที่ประเทศไทยมีความพร้อมมากกว่า อย่างมากมายมหาศาล และถ้าถึงวันนั้น ก็คงจะสายเกินแก้เสียแล้ว

Ambulance บนท้องถนน
กับเพื่อนต่างชาติที่เข้าร่วมประชุม

Navigation