ผลการปฏิบัติงานของศูนย์กู้ชีพ"นเรนทร" ประจำปี พ.ศ. 2555

พื้นที่รับผิดชอบ

Narenthorn EMS zone 8

ภารกิจรับผิดชอบของศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” โรงพยาบาลราชวิถี คือการให้บริการรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูง (Advanced Life Support Ambulance) ในเขตพื้นที่ที่ 8 (zone 8) ของกรุงเทพมหานคร ประกอบไปด้วย 6 เขต ได้แก่ ราชเทวี ดินแดง พญาไท ลาดพร้าว ห้วยขวาง วังทองหลาง ครอบคลุมพื้นที่ 80.56 ตารางกิโลเมตร (รูปที่ 1) จำนวนประชากรประมาณ 495,500 คน

 ภาพรวมของการออกปฏิบัติการ

จำนวนครั้งที่ออกปฏิบัติการในปี 2555 เท่ากับ 1,199 ครั้ง ลดลงจากปี 2554 74 ครั้ง คิดเป็น 6% (แผนภูมิที่ 1) โดยมีช่องทางการรับแจ้งเหตุจากศูนย์เอราวัณมากที่สุด คิดเป็น 83% (แผนภูมิที่ 2)

 Report 2012 - Total casesReport 2012 - Call channel

สัดส่วนเกณฑ์การสั่งการ (dispatch criteria) ที่ใช้มากที่สุด 5 อันดับแรก (แผนภูมิที่ 4) ได้แก่

1.A04:ชักเกร็ง หมดสติ ไม่ตอบสนองต่อการกระตุ้น (40%)

2.A01:หอบเหนื่อยมาก พูดไม่สะดวก หรือซึม ไม่รู้สึกตัว (20%)

3.A10:บาดเจ็บ หมดสติ ไม่รู้สึกตัว (8%)

4.A02: "Cardiac Arrest" (หมดสติ หยุดหายใจ) (7%)

5.A05:เจ็บแน่นหน้าอก ใจสั่น เหงื่อออก (5%)

 Report 2012 - Dispatch criteria

โดยมีสัดส่วนของผู้ป่วยทางอายุรกรรม 75% ผู้บาดเจ็บ 18% ผู้ป่วยสูตินรีเวช 4% และผู้ป่วยอื่น ๆ 3% ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติการออกปฏิบัติการในปี 2554 พบว่า มีสัดส่วนผู้ป่วยทางอายุรกรรม จาก 783 ราย (71%) ในปี 2554 เป็น 811 ราย (75%) ในปี 2555 เพิ่มขึ้น คิดเป็น 3.5% จากปี 2554 ในขณะที่สัดส่วนประเภทผู้ป่วยอื่น ๆ ลดลง (แผนภูมิที่ 4)

 Report 2012 - category

เมื่อพิจารณาจากระดับความรุนแรงของการเจ็บป่วย พบว่า สัดส่วนของผู้ป่วยความรุนแรงระดับฉุกเฉิน (Emergent) และเร่งด่วน รวมกันเพิ่มขึ้นจาก 80% (891 ราย) ในปี 2554 เป็น 86% (936 ราย) ในปี 2555 (แผนภูมิที่ 5)

 Report 2012 - Severity

ผลการรักษา สามารถแก้ไขภาวะคุกคามชีวิตได้ จำนวน 116 ราย (11%) อาการทุเลา 623 ราย (57%)

 Report 2012 - Outcome

ตัวชี้วัด และข้อมูลเชิงวิเคราะห์

สัดส่วนของการออกปฏิบัติการที่ใช้ระยะเวลาการออกตัว (start time) ไม่เกิน 2 นาที คิดเป็น 90.41% เพิ่มขึ้นจาก ปี 2554 ซึ่งอยู่ที่ 78.16% และสามารถทำเวลาออกตัวเฉลี่ยลดลง จาก 1.25 นาที เหลือ 1.08 นาที

Report 2012 - Start time 2  Report 2012 - Start time

แม้ว่าจะสามารถลดระยะเวลาการออกตัวของทีมกู้ชีพในการออกปฏิบัติการแต่ละครั้งลงได้ แต่ปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญที่ส่งผลต่อความรวดเร็วในการเข้าถึงตัวผู้ป่วย คือ ปัญหาการจราจรคับคั่ง ซึ่งส่งผลต่อระยะเวลาการตอบสนอง ดังที่ปรากฏในข้อมูลต่อไปนี้

 

ระยะเวลาการตอบสนอง (response time) ในปี 2555 ใช้เวลาเฉลี่ย 13.52 นาที ใกล้เคียงกับปี 2554 ในขณะที่ระยะทางออกปฏิบัติการเฉลี่ย ลดลงจาก 6.78 กิโลเมตร ในปี 2554 เหลือ 6.58 กิโลเมตรในปี 2555

เมื่อเปรียบเทียบระยะเวลาการตอบสนองเฉลี่ย ตามระยะทาง ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ (แผนภูมิที่ 7)

 Report 2012 - Response time by distance

สัดส่วนการออกปฏิบัติการที่ระยะเวลาการตอบสนองเฉลี่ยที่สามารถไปถึงผู้ป่วยได้ภายในเวลา 8 นาที เทียบกับระยะทาง  มีแนวโน้มลดลงในช่วง 3 ปี (แผนภูมิที่ 8)

 Report 2012 - 8 min response

เมื่อพิจารณาอายุเฉลี่ยในผู้ป่วย 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ ผู้ป่วยทางอายุรกรรม และผู้บาดเจ็บ พบว่า ผู้ป่วยทางอายุรกรรม มีอายุเฉลี่ย อยู่ที่ 60-62 ปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่ อายุเฉลี่ยของผู้บาดเจ็บอยู่ที่ประมาณ 38 ปีเท่ากันตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (แผนภูมิที่ 9)

 Report 2012 - Age

สรุปผลการดำเนินงานศูนย์กู้ชีพ”นเรนทร” ในช่วงปีพ.ศ. 2553-2555

  1. จำนวนครั้งของการออกปฏิบัติการค่อนข้างคงที่ ประมาณ 1,200 ครั้ง/ปี โดยมีแนวโน้มสัดส่วนของผู้ป่วยทางอายุรกรรม และระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้น
  2. แนวโน้มระยะเวลาการออกตัว (Start time) ของทีมปฏิบัติการลดลง จนกระทั่งสามารถผ่านเกณฑ์ตัวชี้วัดที่ 90% ได้ในปี 2555
  3. ปัญหาด้านการจราจร และระยะทาง ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อระยะเวลาการตอบสนอง (response time) ทำให้ความรวดเร็วในการเข้าถึงตัวผู้ป่วยลดลง
  4. สัดส่วนของการออกปฏิบัติการสูงที่สุดในกลุ่มผู้ป่วยอายุรกรรม ซึ่งมีอายุเฉลี่ยมากกว่า 60 ปี และอาจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ซึ่งข้อมูลที่ได้จะใช้เป็นแนวทางในการปรับรูปแบบการตอบสนองและให้บริการของศูนย์กู้ชีพต่อไปในอนาคต

 

Navigation