The Missing Link: ความรู้ระบบ EMS สำหรับคนไทยทั่วไป

เราเคยตั้งข้อสังเกตกับสถานการณ์เหล่านี้บ้างไหมครับ?

น้องตั้มอายุ 8 ขวบ: ว้าว.. ดูสิ รถอะไรตามเรามาน่ะแม่ มีเสียงดังด้วย มีไฟหลายๆสีเยอะแยะเลย สวยมาก!!

คุณแม่ที่กำลังขับรถ:เหรอจ้ะลูก คงเป็นรถนำขบวนมั้งลูก เค้าอยากไปเร็วๆ ให้เราหลีกทางให้ พวกอภิสิทธิ์ชนน่ะ!!

เจ้าหน้าที่ศูนย์รับแจ้งเหตุ:ทำไมหนอ.. ทุกวันเนี่ย คนแจ้งเหตุเข้ามา 100 ครั้งจะเป็นคนโทรเล่นซะ 50 ครั้ง สอบถามเรื่องอื่นๆกับโทรผิดอย่างละอีก 20 อีก 10 ถึงเป็นเหตุเจ็บป่วยจริง แต่ใน 10 ครั้งมีแค่ครั้งเดียวที่ commander สั่งให้เราปล่อยรถออกไปช่วย!! เบื่อรับสายจังเลย

แพทย์ผู้ควบคุมระบบ:อืม.. จังหวัดเรามีประชากร 2 ล้านคน วันนี้เราก่อตั้งศูนย์กู้ชีพมา 12 ปีแล้ว เคส EMS ของเราเฉลี่ยเพิ่มจาก 2 เคสต่อวันเป็น 2.2 เคสแล้ว แสดงว่าประชาชนเข้าถึงระบบมากขึ้น!!!

พยาบาลกู้ชีพ:ทำไม๊ ทำไม ญาติคนไข้ถึงไม่ได้ช่วยเหลืออะไรเลยตอนเราไปถึง ออกรถมาถึงแค่ 10 นาที ถ้าช่วยกันก่อนคนไข้อาจรอด คนไข้แข็งแรงดูเป็นนักกีฬาเสียด้วย น่าเสียดายจริงๆ.....

คนไทยส่วนใหญ่:โธ่คุณ.. เบอร์ 1669 เหรอ.. เบอร์อะไรอ่ะ.. KFC มั้ง.. ผมไม่เคยรู้เรื่องเลย จะโทรแจ้งทีไรก็ จส.100 ทุกที ก็เห็นเค้าทำงานเร็วดีหนิ เนี่ย วันก่อนเจอรถชนคนเจ็บสลบเลย แจ้งแป๊บเดียว มีแท็กซี่หิ้วแขน หิ้วขาขึ้นรถเลย ดีจริงๆ ขืนแจ้งเบอร์ที่คุณว่าน่ะเหรอ ชั่วโมงนึงก็ยังไม่มาหรอกม้างงง

สถานการณ์ข้างต้น ได้จำลองมาจากคำพูดจริงๆ บางทีอาจดูโอเว่อร์ไปบ้าง แต่คุณเชื่อว่าความคิดแบบนี้มีทีท่าจะลดน้อยลง ในสังคมไทยอีก 10 ไปข้างหน้าได้หรือไม่?

พวกเราคงทราบดีว่าระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ประกอบไปด้วยองค์ประกอบหลายส่วน ตามสัญลักษณ์ The Star of Life (ของแท้ต้องมี snake inside ไม่ใช่ intel inside นะ.. อิอิ) นั้นมี 6 องค์ประกอบด้วยกัน

1. Detection: การรับรู้ว่าเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น โดยบุคลากรด่านหน้า (first responder) หรือบุคคลทั่วไป

2. Reporting: เมื่อพบเหตุ ก็ต้องแจ้งเหตุสิครับ แต่อย่างน้อยต้องมีไทยมุงเข้ามาทำหน้าที่ก่อน ถ้าโชคดีอาจมุงแค่ 2-3 นาทีแล้วจึงมีคนนึกได้โทรแจ้งเหตุ แต่ถ้าโชคร้าย บรรดาไทยมุงกลุ่มนั้นอาจทำหน้าที่แค่มุง ต้องผ่านไปหลายเพลาจึงจะมีคนช่วยชาติ ยอมกดโทรแจ้งเหตุ

3. Response: การนำทรัพยากรที่มีอยู่ออกไปช่วยเหลืออย่างเหมาะสม เช่น การที่ศูนย์สั่งการสั่งรถหน่วย BLS / ALS ออกไปช่วยเหลือ โดยยานพาหนะนั้นอาจเป็นจักรยาน มอเตอร์ไซค์ รถ เรือ หรือเครื่องบิน (ยังไม่พบว่ามียานอวกาศ Ambulance ในชาวโลกแต่อย่างใด แต่ในโลกของชาวอีทีอาจจะมี)

4. On scene care: การรักษาพยาบาล ณ จุดเกิดเหตุโดยเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายจากระบบ

5. Care in transit: การดูแลระหว่างนำส่งก็ต้องทำด้วย ไม่ใช่ยกขึ้นรถได้ ก็ขับตะบี้ตะบันให้ถึงโรงพยาบาลอย่างเดียว ทุกคนมันส์ไปกับการซิ่ง พอไปถึงโรงพยาบาลคนไข้ถอดจิตถอดวิญญาณไปซะแหล่ว!! (ปกติไม่มีหรอกนะครับ ผมล้อเล่นอ่ะ)

6. Transfer to definitive care: การนำส่งสถานพยาบาลที่รักษาจนถึงขั้นสุดท้ายได้ แน่ล่ะการย้ายโรงพยาบาล ย่อมก่อให้เกิดต้นทุนแก่สังคม และตัวคนไข้เองแน่นอน

ถ้าไม่นับเรื่องอื่นๆ ที่คนในระบบ EMS ทำกันอยู่แล้ว การที่ประชาชนสามารถปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมได้เป็นสิ่งสำคัญมากครับ

เวลานี้สังคมไทยควรถูกสอนให้ปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินแล้วหรือไม่?
สิ่งที่พวกเราคาดหวังให้คนไทยปฏิบัติให้ถูกต้องเมื่อเกิดเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินมีสิ่งใดบ้าง?
และอะไรเป็นปัจจัยสำคัญ (key success factor) ที่ทำให้คนรู้จักวิธีแจ้งเหตุและปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องอย่างยั่งยืน?

คือก่อนอื่น ผมก็ยังคิดว่าการตั้งป้าย 1669 การทำสติ๊กเกอร์ การทำแผ่นพับ ฯลฯ ก็เป็นสิ่งที่ดีนะครับ แต่เหมือนกับว่ามันยังไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่า "ความผูกพัน" (engagement) มากพอที่ประชาชนจะนึกขึ้นมาในหัวทันทีเมื่อญาติเจ็บป่วยฉุกเฉิน (อาจต้องนึกซักแป๊บนึง แล้วควานหาเบอร์) พร้อมทั้งสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้บ้าง แต่ถ้าไม่รู้ ก็อยู่ห่างๆ อันนี้คงจะเป็นหน้าที่ของศูนย์รับแจ้งเหตุ

เรื่องนี้คงต้องอาศัยความร่วมมือกันหลายๆส่วนเลยล่ะครับ ผมจะยกตัวอย่างเท่าที่นึกออก

1. กระทรวงศึกษาบรรจุหลักสูตร EMS พื้นฐานไว้ในวิชาสุขศึกษาในชั้นประถม 6 ครูและอาจารย์ควรได้รับความรู้ คู่มือ และสื่อการสอนจากสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งจะได้สร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจร่วมกัน สามารถร่วมมือกันได้เมื่อเกิดภัยพิบัติ หรือโรคระบาดอีกด้วย ส่วนในพื้นที่ห่างไกลอาจใช้เจ้าหน้าที่กู้ชีพไปสอนเด็กนักเรียนเป็นกลุ่มใหญ่ให้ก็ได้ เป็นการประชาสัมพันธ์และเปิดตัวกับชุมชนไปในตัว เนื่องจากในงานวิจัยหลายชิ้น ได้บ่งชี้ชัดเจนว่าสำหรับคนไทยแล้ว การสื่อสารที่สัมฤทธิ์ผลที่สุดคือการสื่อสารต่อหน้า (face to face) และต้องมีการโต้ตอบกัน (two-way)

2. ระบบสื่อสาร ควรจะตั้งหน่วยงานที่ดูแลหมายเลขฉุกเฉินขึ้นมาแบบ NENA (national emergency number association) เพื่อดูแลหมายเลขฉุกเฉินไม่ให้มีใครตั้งหมายเลขมาใกล้เคียงกัน ตัวอย่างเช่น 1668, 1669 และจัดหาหมายเลขกลางเพียงหมายเลขเดียว รวมถึงการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และสนับสนุนการแจ้งเหตุอย่างถูกต้อง ไม่ใช่ปล่อยให้มีหมายเลขต่างๆเกิดขึ้นอย่างอิสระเสรีแบบปัจจุบัน

3. กระทรวงวัฒนธรรม ควรออกคำแนะนำ หรือคู่มือสำหรับสื่อมวลชน (ถ้าเค้าไม่สน เราก็น่าจะทำคู่มือเล็กๆสำหรับสื่อมวลชนได้นะครับ) รวมทั้งการจัดอบรมสื่อมวลชนเพื่อสร้าง role model สำหรับการจัดการเหตุฉุกเฉินอย่างถูกต้อง ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่การบังคับ แต่เป็นการสอนให้รู้ หลังการทำกิจกรรมข้อนี้ ต่อไปละครต่างๆที่ออกฉายทางดโทรทัศน์ เมื่อนางเอกเกิดป่วย พระเอก จะต้องกดเบอร์ 1669 ที่โทรศัพท์ทันที เป็นตัวอย่างที่สื่อมวลชนอาจนำไปสอดแทรกในบทละคร และเมื่อถึงโรงพยาบาล ผู้แสดงที่เป็นแพทย์ก็อาจแสดงได้สมจริงมากขึ้น ไม่ใช่เอะอะ ก็จะ defib มันแหลก แถมละครบางเรื่อง defib จาก asystole แล้วลุกขึ้นมาพูดปร๋อได้ทันที!!

ก็คงนำมาแชร์เท่านี้ เมื่อระบบเริ่มเข้าที่เข้าทางมากขึ้น กระบวนการภายในเริ่มใช้ได้ ก็คงต้องพัฒนาคนในสังคมไปพร้อมๆกับระบบด้วย สำหรับเมืองไทย มีคนแนะนำว่าคนกับระบบต้องเดินไปพร้อมกัน ถ้าคนเดินไปก่อนระบบ คนก็จะเบื่อและท้อ หรือปฏิเสธระบบ แต่ถ้าระบบดีแต่คนยังไม่ดี ทำให้ตายยังไงมันก็จะไม่ไปไหนล่ะครับ ก็ขอให้คุณช่วยกันคิดดูว่า มีวิธีทางไหน ที่จะเชื่อมต่อ the missing link ในจุดนี้ได้ อย่างไรก็ตามข้อควรระวังคือ เราต้องจัดทำระบบให้ได้มาตรฐานระดับหนึ่งเสียก่อน เพื่อไม่ให้ผู้แจ้งเกิดความผิดหวังยามเรียกใช้บริการครับ

Navigation