ทำงานกู้ชีพอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ

เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่าผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินที่ได้รับการช่วยเหลือ ณ จุดเกิดเหตุ จะมีโอกาสรอดชีวิตหรือลดภาวะแทรกซ้อน จำเป็นต้องมีการช่วยเหลือที่รวดเร็ว ถูกต้อง เหมาะสม ตั้งแต่จุดเกิดเหตุ ขณะเคลื่อนย้ายลำเลียง จนถึงการนำส่งโรงพยาบาลที่เหมาะสม คือมีศักยภาพในการรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยเหล่านั้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวระบบการช่วยเหลือก่อนถึงโรงพยาบาล หรือระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (EMSS : EMERGENCY MEDICAL SERVICES SYSTEM) จึงเป็นหนึ่งในนโยบายหลักสำคัญของรัฐบาล ที่กำหนดให้มีหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉินให้ครอบคลุมทั่วประเทศไทย โรงพยาบาลต่าง ๆ จึงต้องเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อตอบสนองนโยบายดังกล่าว สิ่งสำคัญที่ต้องทำไปพร้อมๆกับการพัฒนาระบบคือการพัฒนาการช่วยเหลือ(การกู้ชีพ) ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องอาศัยปัจจัยหลายๆด้านประกอบกัน ทั้งการบริหารจัดการหน่วยกู้ชีพ การพัฒนาการให้บริการ ตลอดจนการพัฒนาและฟื้นฟูองค์ความรู้ของบุคลากร และที่สำคัญที่สุดคือการทำงานเป็นทีมอย่างมีความสุขที่สอดประสานเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบโดยเฉพาะการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม จึงจะส่งผลลัพธ์ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ คือการลดอัตราการตายที่ไม่สมควร และลดภาวะแทรกซ้อนที่จะอาจตามมาภายหลัง

ปัจจุบันการพัฒนาการกู้ชีพ ถือเป็นบทบาทหน้าที่หนึ่งของชาวฉุกเฉิน ทั้งแพทย์พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่เวชกิจฉุกเฉิน โดยเฉพาะพยาบาลนับเป็นกำลังหลักในการปฏิบัติงานในด้านนี้ กล่าวคือเป็นทั้งผู้บริหารจัดการหน่วยกู้ชีพ ผู้ให้บริการในหน่วยกู้ชีพ อีกทั้งยังต้องเป็นครูผู้ฝึกสอน ถ่ายทอดองค์ความรู้ ให้กับประชาชน อาสาสมัครและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากงานกู้ชีพเป็นงานที่ต้องมีชุมชนเป็นรากฐาน ฉะนั้นการชักชวนและส่งเสริมชุมชนให้มีส่วนร่วมในยามเจ็บป่วยฉุกเฉิน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งในยามเจ็บป่วยฉุกเฉินและสามารถทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยกู้ชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมาย0

ฉะนั้นการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เปรียบเสมือนต้นทุนให้ทีมกู้ชีพมีความเข้มแข็งมากขึ้นในด้านต่างๆในทุกระยะของการให้บริการ ในที่นี้จะขอกล่าวถึง เทคนิควิธีต่างๆที่มีส่วนทำให้ทีมกู้ชีพมีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้เขียนได้รวบรวมจากประสบการณ์ตรง ในหลายแง่มุม ที่จะเป็นประโยชน์กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานกู้ชีพ

เทคนิคในด้านการบริหารจัดการหน่วยบริการให้มีประสิทธิภาพ และมีความพร้อมในการให้บริการก่อนถึงโรงพยาบาล ต้องคำนึงถึงการเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ดังนี้

1) บุคลากร ต้องเป็นผู้ที่มีใจรักในการให้บริการเชิงรุก มีใจรักในงานฉุกเฉิน มีความเชื่อมั่นในตัวเอง คล่องแคล่ว ว่องไว และมีทัศนคติที่ดีต่อการให้บริการก่อนมาถึงโรงพยาบาล ถ้าเป็นไปได้อาจใช้วิธีคัดเลือกบุคลากรโดยให้อาสาสมัครตัวเข้ามา เพราะผู้อาสาสมัครตัวเข้ามา มักมีใจรักในงานนั้นเป็นต้นทุนเดิมอยู่แล้ว จะยิ่งทำให้งานมีผลสำเร็จไปเกินกว่าครึ่ง
ปัญหาอุปสรรค
บุคลากรมีไม่เพียงพอ ทำให้ไม่มีผู้รับผิดชอบชัดเจน
บุคลากรที่ปฏิบัติงานประจำในหน่วยงานนี้ ขาดความก้าวหน้า ไม่มีกรอบอัตรากำลัง
ชัดเจน ทำให้ท้อแท้ และเป็นสาเหตุของการย้ายไปสู่หน่วยงานอื่นหรือลาออกจากระบบ
แนวทางแก้ไข
- ถ้าสามารถทำได้ ควรจัดให้มีบุคลากรรับผิดชอบงานด้านนี้โดยตรง
- องค์กรและผู้บริหารควรเห็นความสำคัญของบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านนี้ และส่งเสริมให้มีความก้าวหน้าในการปฏิบัติงานตามความเหมาะสมที่ควรจะเป็น

2) รถพยาบาลฉุกเฉิน ต้องมีพร้อมใช้และมีผู้รับผิดชอบตลอด 24 ชั่วโมง เพราะการ
เจ็บป่วยฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล จะเกิดขึ้นเวลาใดก็ได้
ปัญหาอุปสรรค
ไม่มีรถพยาบาลฉุกเฉินเฉพาะสำหรับงานกู้ชีพ บางโรงพยาบาลใช้ร่วมกับรถของฝ่าย
บริหาร ทำให้ติดขัดขั้นตอนในการบริหารจัดการ และมีผลต่อการออกปฏิบัติการล่าช้า เกิดผลกระทบต่อผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน
ไม่มีรถสำรอง เมื่อรถประจำการขัดข้อง
ไม่มีผู้รับผิดชอบรถพยาบาลฉุกเฉินโดยตรง ขาดผู้ดูแลรักษารถอย่างชัดเจน มี
ผลทำให้เกิดการชำรุด เสียหาย บ่อยๆ และหาผู้รับผิดชอบไม่ได้
แนวทางแก้ไข
- ควรมีรถพยาบาลฉุกเฉินเฉพาะสำหรับงานกู้ชีพโดยตรง
- ควรมีรถสำรอง เมื่อรถประจำการขัดข้อง ( ถ้าสามารถทำได้ )
- ควรจัดให้มีผู้รับผิดชอบดูแลรถพยาบาลฉุกเฉินโดยตรง
- ถ้าเป็นได้ ในอนาคต อาจต้องใช้วิธีจ้างเหมาภาคเอกชนมาบริหารจัดการรถพยาบาลฉุกเฉิน ซึ่งน่าจะเกิดผลดีกว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน

3) องค์ความรู้ บุคลากรที่ปฏิบัติงาน ต้องผ่านการอบรมและลงทะเบียนเป็นผู้ปฏิบัติงานด้านการกู้ชีพ โดยมีการทดสอบความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การประเมินสถานการณ์ การประเมินสภาพ การช่วยเหลือภาวะฉุกเฉินในระบบต่าง ๆ การช่วยฟื้นคืนชีพ การใช้อุปกรณ์และเทคนิคในการยกและเคลื่อนย้าย และที่สำคัญควรมีการฝึกภาคสนามร่วมกับหน่วยกู้ชีพตามเกณฑ์ที่กำหนด ก่อนที่จะปฏิบัติงานจริง จึงจะทำให้เกิดทักษะและมองเห็นภาพในเชิงรุกได้ชัดเจนขึ้น
ปัญหาอุปสรรค
- บุคลากรขาดองค์ความรู้และทักษะในงานด้านการกู้ชีพ
ในการจัดการเรียนการสอนไม่ได้จัดภาคสนามลงไปด้วย ซึ่งอาจมีสาเหตุจากข้อจำกัด
บางอย่าง เช่น ไม่มีแหล่งฝึกภาคสนาม เป็นต้น ทำให้บุคลากรขาดทักษะและความมั่นใจในการให้บริการเชิงรุกในสถานการณ์จริง
แนวทางแก้ไข
- พัฒนาและฟื้นฟูองค์ความรู้ด้านการกู้ชีพให้บุคลากรอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
- ควรจัดให้บุคลากร มีการฝึกภาคสนามในรถกู้ชีพ ก่อนที่จะปฏิบัติงานจริง

4) ยาและอุปกรณ์เวชภัณฑ์ ต้องมีครบถ้วน ทั้งปริมาณและคุณภาพ และควรจัดเก็บไว้ในกระเป๋าที่พร้อมจะนำไปยังที่เกิดเหตุได้สะดวกตลอดเวลา
ปัญหาอุปสรรค
ไม่ได้ตรวจเช็คอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ ทำให้บางครั้งอุปกรณ์ขาดหายไป , O2 หมด
หรือบางครั้งยาหมดอายุ เป็นต้น
ในบางหน่วยงาน จัดเก็บยาหรือเวชภัณฑ์ ที่ใช้ในกรณีฉุกเฉินไว้ในตู้ของรถพยาบาล
ทำให้ไม่สามารถนำไปช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุได้ทันท่วงที
จัดเตรียมอุปกรณ์เวชภัณฑ์ ไม่ครบตามมาตรฐาน
แนวทางแก้ไข
- มีการ ตรวจเช็คอุปกรณ์เวชภัณฑ์ ก่อนและหลังการปฏิบัติงานทุกครั้ง
- จัดเตรียมอุปกรณ์เวชภัณฑ์ไว้ในกระเป๋าที่สามารถนำไปช่วยเหลือ ณ จุดเกิดเหตุได้ทันที ตลอดเวลา
- จัดเตรียมอุปกรณ์เวชภัณฑ์ให้มีครบตามมาตรฐานที่กำหนด
5) การสื่อสาร ต้องมีวิทยุสื่อสาร หรือช่องทางการสื่อสารทางอื่น เช่น โทรศัพท์ติดตั้ง
ในรถพยาบาลฉุกเฉิน เพื่อติดต่อประสานงานขณะปฏิบัติการ และบุคลากรที่ปฏิบัติงานต้องมีความสามารถในการใช้วิทยุสื่อสารเป็นอย่างดี
ปัญหาอุปสรรค
ไม่มีวิทยุสื่อสารในรถพยาบาลฉุกเฉิน บางครั้งบุคลากรต้องใช้โทรศัพท์ส่วนตัว โดย
ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง และที่สำคัญทำให้เกิดความล่าช้าในการปฏิบัติงาน
บุคลากรไม่มีองค์ความรู้ ขาดทักษะในการใช้วิทยุสื่อสาร

แนวทางแก้ไข
ติดตั้งวิทยุสื่อสารในรถพยาบาลฉุกเฉิน
พัฒนาฟื้นฟูองค์ความรู้ในการใช้วิทยุสื่อสารให้บุคลากรอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

6) ทีมงาน ต้องมีการเตรียมทีมงานให้เข้าใจบทบาทหน้าที่ซึ่งกันและกัน เพราะการ
ทำงานด้านการกู้ชีพ ต้องทำงานร่วมกันเป็นทีมจึงจะประสบผลสำเร็จ ทุกคนในทีมล้วนมีความสำคัญ ถ้าเหนื่อยก็เหนื่อยด้วยกัน ทุก ๆ คนในทีมก็จะปฏิบัติงานได้อย่างมีความสุขและเกิดผลงานที่มีประสิทธิภาพ
ปัญหาอุปสรรค
ทีมงานไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ซึ่งกันและกัน ทำให้ไม่เกิดความร่วมมือร่วมใจกันใน
การปฏิบัติงาน
แนวทางแก้ไข
ชี้แจงให้บุคลากรในทีม เข้าใจบทบาทซึ่งกันและกัน และมีการมอบหมายกำหนด
หน้าที่รับผิดชอบเป็นลายลักษณ์อักษรไว้อย่างชัดเจน
จัดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความสามัคคีกันในหน่วยงาน

7) การมีส่วนร่วมของชุมชน ต้องมีการเข้าถึงและโน้มน้าวให้ชุมชนเห็นความสำคัญใน
การมีส่วนร่วมเมื่อคนในชุมชนเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉิน เพราะนอกจากจะทำให้ชุมชนสามารถช่วยเหลือกันเองในยามเจ็บป่วยฉุกเฉินได้แล้ว ชุมชนยังสามารถทำงานเชื่องโยงสอดประสานกันกับหน่วยกู้ชีพได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง ในเวลาที่เหมาะสม ก่อให้เกิดประสิทธิภาพของการกู้ชีพ อีกทั้งยังช่วยลดความขัดแย้งต่างๆในการปฏิบัติงาน ที่อาจจะเกิดขึ้น
ปัญหาอุปสรรค
ชุมชนขาดความเข้าใจในการทำงานของหน่วยกู้ชีพ บางครั้งเกิดความขัดแย้ง จนถึง
ขั้นไม่รอทีมกู้ชีพ หรือยกผู้เจ็บป่วยหนี
ประชาชน อาสาสมัคร มูลนิธิ ที่พบเห็นผู้เจ็บป่วย ขาดองค์ความรู้ในการ
ช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยในเบื้องต้น
แนวทางแก้ไข
ควรมีการจัดประชุมชี้แจง ทำความเข้าใจถึงความสำคัญและความจำเป็นในการทำงาน
ร่วมกันของชุมชน และหน่วยกู้ชีพ เพื่อช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินในชุมชนนั้นๆให้มีประสิทธิภาพ เพราะคนในชุมชนที่พบเห็นผู้เจ็บป่วยเป็นคนแรก เป็นผู้ที่มีความสำคัญที่สุดในการช่วยเหลือเบื้องต้น การช่วยเหลือและแจ้งเหตุได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว จะช่วยให้ผู้เจ็บป่วยมีโอกาสรอดชีวิต และลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้น
หน่วยกู้ชีพควรเป็นที่ปรึกษา พี่เลี้ยง คอยสนับสนุนและส่งเสริมชุมน ในเรื่องที่เกี่ยว
และจำเป็นในงานกู้ชีพ โดยเฉพาะองค์ความรู้ ควรจัดฝึกอบรมให้ชุมชนมีความสามารถช่วยเหลือตนเองได้ในยามเจ็บป่วยฉุกเฉิน และสามามารถทำงานเชื่อมโยงกับหน่วยกู้ชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาจจัดให้มีการซ้อมแผนร่วมกันเพื่อหาข้อผิดพลาดมาปรับปรุงแก้ไข
หน่วยกู้ชีพต้องพัฒนาการปฏิบัติงานให้ชุมชนเห็นได้ว่าเป็นหน่วยกู้ชีพระดับสูง ที่
สามารถให้การสนับสนุนหน่วยกู้ชีพระดับพื้นฐานได้อย่างเป็นที่ประจักษ์ จึงจะทำเกิดการยอมรับในฝีมือ และให้การร่วมมือในการปฏิบัติงาน ซึ่งจะนำมาสู่ผลลัพธ์ของการกู้ชีพที่มีประสิทธิภาพ

ฉะนั้น เทคนิคหรือ ตัวชี้วัด ที่จะทำให้การกู้ชีพมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย
1. คนพร้อม
2. รถพยาบาลพร้อม
3. องค์ความรู้พร้อม
4. ยาและอุปกรณ์เวชภัณฑ์พร้อม
5. การสื่อสารพร้อม
6. ทีมพร้อม
7. การมีส่วนร่วมของชุมชน

สรุป
เทคนิคในการกู้ชีพให้มีประสิทธิภาพ แท้ที่จริงแล้ว คือการรู้จักนำหลักการทางวิชาการ การบริหารจัดการในด้านต่างๆ ได้แก่ บุคลากร, อุปกรณ์เวชภัณฑ์ และเครื่องมือในการกู้ชีพ หรือสิ่งอื่นๆที่เกี่ยวข้อง มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการให้เหมาะสมในแต่ละองค์กร อีกทั้งเป็นการนำองค์ความรู้มาใช้ในการกู้ชีพได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม ตามสภาพของผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน
นอกจากนี้ การนำข้อผิดพลาดจากประสบการณ์มาทบทวน เพื่อปรับปรุงแก้ไข จะก่อให้เกิดการพัฒนาที่ดียิ่งขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือการทำงานเป็นทีมอย่างมีความสุขที่สอดประสานเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบโดยเฉพาะการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ปัจจัยเฉพาะบุคคลที่มีผลให้การกู้ชีพมีประสิทธิภาพ และทำให้สังคมยอมรับ เห็นคุณค่าของบุคลากร ที่ปฏิบัติงานด้านการกู้ชีพ คือความมีเมตตากรุณา เพราะความมีเมตตากรุณานอกจากจะส่งผลให้การกู้ชีพเกิดประสิทธิภาพแล้ว ยังส่งผลให้บุคลากรกู้ชีพ ได้รับรู้ถึงความปิติสุข ที่ได้ทำกุศลอันยิ่งใหญ่จากการช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งน้อยคนนักที่จะมีโอกาสได้กระทำและรับรู้ในสิ่งนี้ ฉะนั้นการกู้ชีพจากทีมกู้ชีพที่ดีที่สุด จะไม่เกิดผลสำเร็จสูงสุด ทั้งต่อผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินและผู้ให้การช่วยเหลือ ถ้าผู้ให้การช่วยเหลือขาดซึ่งความมีเมตตากรุณา

หมายเหตุ
มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2551 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2551 โดยกระทรวงสาธารณสุขต้องดำเนินการให้มีคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน และเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ขึ้นภายใน 120 วัน นับตั้งแต่พระราชบัญญัติมีผลบังคับใช้ และได้จัดตั้งให้มีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ( สพฉ) ขึ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เอกสารอ้างอิง

1.อุบล ยี่เฮ็ง. ก่อนมาER . ใน: ยุวเรศ สิทธิชาญบัญชา, รพีพร โรจน์แสงเรือง, บรรณาธิการ. การประชุมวิชาการเวชศาสตร์ฉุกเฉินครั้งที่ 6 (ทำอย่างไรให้แผนกฉุกเฉินดีขึ้น). กรุงเทพมหานคร.
N P Press Limited Partnership; 2550. หน้า 13-16.

Navigation