เกี่ยวกับศูนย์กู้ชีพนเรนทร
โรงพยาบาลราชวิถี ตระหนักถึงการเสียชีวิตและพิการที่ไม่สมควรเนื่องจากความล่าช้า การนำส่งที่ผิดวิธีและการนำส่งที่ผิดที่ จึงได้เริ่มต้นโครงการต้นแบบระบบการรักษาพยาบาลก่อนถึงโรงพยาบาล แก่ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน ในพื้นที่บริการ โดยได้อัญเชิญพระนามของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาชัยนาทนเรนทร องค์สถาปนากระทรวงสาธารณสุข มาเป็นชื่อของหน่วยปฏิบัติการ ที่เรียกว่า หน่วยกู้ชีพ " นเรนทร" โดยเริ่มเปิดอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2538 จนถึงปัจจุบัน ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มูลนิธิร่วมกตัญญู และสถาบันการแพทย์ด้านอุบัติเหตุ และสาธารณภัย กรมการแพทย์ และ ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินเป็นอย่างยิ่งจาก มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินได้รับการรักษาพยาบาลที่รวดเร็ว ณ ที่เกิดเหตุ มีการลำเลียงนำส่งที่ถูกวิธีไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสม ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นก็คือ ทำให้เกิดการยอมรับและนำรูปแบบไปขยายผลโดยกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศในรูปแบบของ "ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน" Emergency Medical Services System (EMS)
พื้นที่รับผิดชอบ
- พื้นที่บริการหลัก การให้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน ณ ปัจจุบัน เป็นพื้นที่โซน 8 ของระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานคร
- พื้นที่การปกครอง: เขตพญาไท, ห้วยขวาง, ราชเทวี, ดินแดง, บางซื่อ, วังทองหลาง, จตุจักร(บางส่วน) และ ลาดพร้าว(บางส่วน)
- พื้นที่สถานีตำรวจ: สน.พญาไท, สน.ดินแดง, สน.ห้วยขวาง, สน.โชคชัย, สน.มักกะสัน, สน.บางซื่อ, สน.พหลโยธิน, สน.สุทธิสาร, สน.วังทองหลาง
- ครอบคลุมพื้นที่ 75 ตารางกิโลเมตร
ภารกิจ
ศูนย์สื่อสารกู้ชีพ”นเรนทร”
- เฝ้าฟัง เหตุการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบ และพื้นที่ใกล้เคียง ทางช่องทางสื่อสารเครือข่ายในพื้นที่
- รับแจ้งเหตุ จากศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร ประชาชนทางโทรศัพท์ เครือข่ายหน่วยปฏิบัติการ และอาสาสมัครในพื้นที่
- คัดแยก เหตุการณ์ และอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน สอบถามข้อมูล เพื่อจัดลำดับความสำคัญในการตอบสนองต่อเหตุการณ์
- สั่งการ รถพยาบาลฉุกเฉินออกปฏิบัติการ
- ประสาน ที่จุดเกิดเหตุกับผู้แจ้งเหตุ และอาสาสมัครใกล้เคียงเข้าตรวจสอบ และช่วยเหลือเบื้องต้น ตำรวจจราจรอำนวยความสะดวกเส้นทางจราจรสำหรับรถพยาบาลฉุกเฉิน รถพยาบาลฉุกเฉินในระหว่างเข้าถึง และนำส่งผู้ป่วย และโรงพยาบาลปลายทางให้ทราบถึงข้อมูลเพื่อเตรียมพร้อมรับผู้ป่วย
- ให้คำแนะนำ แก่ผู้ประสบเหตุ เพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ป่วย ก่อนรถพยาบาลไปถึง
รถพยาบาลฉุกเฉินขั้นสูง (Advanced Life Support Ambulance)
เป็นที่รู้จักในชื่อ รถกู้ชีพ”นเรนทร” เตรียมพร้อมออกปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีวัตถุประสงค์ออกปฏิบัติการ พร้อมอุปกรณ์การแพทย์ เพื่อประเมิน ช่วยชีวิต และให้การรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินตั้งแต่ในที่เกิดเหตุ และนำส่งโรงพยาบาล เพื่อรับการรักษาต่อ
บุคลากรประจำรถกู้ชีพ ประกอบไปด้วย
- แพทย์กู้ชีพ 1 นาย
- พยาบาลกู้ชีพ 1 นาย
- เจ้าหน้าที่กู้ชีพ 2 นาย
เครือข่ายบริการ
เครือข่ายร่วมให้บริการรถพยาบาลฉุกเฉิน และอาสาสมัคร ในพื้นที่ zone 8 กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย
บริการรถพยาบาลฉุกเฉินขั้นสูง (Advanced Life Support Ambulance)
- ศูนย์กู้ชีพ"นเรนทร" โรงพยาบาลราชวิถี
- ศูนย์กู้ชีพรามาธิบดี
- ศูนย์กู้ชีพโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
- Bangkok Emergency Services (BES) โรงพยาบาลกรุงเทพ
- Bangkok Emergency Services (BES) โรงพยาบาลพญาไท 2
- โรงพยาบาลปิยะเวท
บริการรถพยาบาลฉุกเฉินขั้นพื้นฐาน (Basic Life Support Ambulance)
- มูลนิธิร่วมกตัญญู
- มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง
เครือข่ายอาสาสมัคร
- ศูนย์วิทยุพระรามเก้า
- ศูนย์วิทยุ R-Comm กรุงเทพ
- ศูนย์วิทยุชาลี กรุงเทพ
ภาพรวมผลการปฏิบัติการ
จำนวนครั้งของการออกปฏิบัติการ
ในปีพ.ศ.2558 ศูนย์กู้ชีพ”นเรนทร”ออกปฏิบัติการทั้งหมด 1,181 ครั้ง ลดลงจากปีก่อนหน้า 139 ครั้ง (10.53%)
ช่องทางการรับแจ้ง
โดยภารกิจได้รับการรับแจ้งจากศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร มากที่สุด (75%) ตามด้วย อาสาสมัคร (10.5%) หน่วยกู้ภัย (3.98%) วิทยุสื่อสารประชาชน (2.20%) ประชาชนทางหมายเลขอื่น (2.12%) และเจ้าหน้าที่ตำรวจ (2.12%) ตามลำดับ
อาการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ได้รับแจ้ง
อาการรับแจ้งที่มีสัดส่วนมากที่สุด คือ ภาวะหมดสติ (40.1%) รองลงมาได้แก่ หอบเหนื่อย (18.6%) หมดสติ หยุดหายใจ สงสัยหัวใจหยุดเต้น (10.6%) บาดเจ็บ หมดสติ (5.7%) เจ็บแน่นหน้าอก (3.86%)
ประเภทผู้ป่วย
ผู้ป่วยที่ไม่ใช่อาการบาดเจ็บ ยังคงเป็นสัดส่วนมากที่สุด (76%) ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า (77%) รองลงมาได้แก่ อาการบาดเจ็บ (17.7%) สูตินรีเวช (4.67%) และอื่นๆ (1.6%)
อายุผู้ป่วยแยกตามประเภท
ในปี 2558 อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยที่ไม่ใช่อาการบาดเจ็บ คือ 63 ปี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า (61 ปี) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอายุเฉลี่ยของประชากรในประเทศ
ส่วนผู้ป่วยจากการบาดเจ็บ มีอายุเฉลี่ย 35 ปี ลดลงจากปีก่อนหน้า (38 ปี) โดยมีสาเหตุส่วนใหญ่จากอุบัติเหตุจราจร
ระดับความรุนแรง
ผู้ป่วยระดับวิกฤติฉุกเฉิน (Emergent) มีสัดส่วนมากที่สุด (48.9%) รองลงมาเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน ไม่วิกฤติ (Urgent) (43.9%) และผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน (7.2%) โดยจำนวนของผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉิน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ในขณะที่ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่วิกฤติ และผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน มีสัดส่วนลดลง
เมื่อพิจารณากลุ่มผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งกลุ่มวิกฤติ และไม่วิกฤติ คิดเป็นสัดส่วน 92.8% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี
ผลการรักษา
เมื่อพิจารณาถึงผลการรักษาของหน่วยกู้ชีพ”นเรนทร” สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยให้รอดพ้นจากอาการวิกฤติได้เป็นจำนวน 181 ราย คิดเป็น 15.9% อาการดีขึ้น 55.6% คงเดิม 15.7% และเสียชีวิต 11.7%
ตัวชี้วัด
ตัวชี้วัดความพร้อมออกปฏิบัติการ
ตัวชี้วัดด้านความพร้อมออกปฏิบัติการของศูนย์กู้ชีพ”นเรนทร” ใช้สัดส่วนเวลาการออกตัวหลังสั่งการไม่เกิน 2 นาที โดยกำหนดเกณฑ์ที่ต้องทำให้ได้คือ มากกว่า 90%
ในปี 2558 สามารถออกตัวได้ภายใน 2 นาทีคิดเป็น 83.47% ลดลงจากปีก่อนหน้า (87.40%)
โดยระยะเวลาออกตัวเฉลี่ย อยู่ที่ 1.32 นาที เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า (1.29 นาที) เล็กน้อย
ระยะเวลาตอบสนอง (Response interval)
ในปี 2558 ศูนย์กู้ชีพ”นเรนทร” มีระยะเวลาที่ใช้ตั้งแต่ได้รับแจ้งจนถึงที่เกิดเหตุ(ระยะเวลาตอบสนอง)เฉลี่ย 14.61 นาที เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า (14.40 นาที) เมื่อพิจารณาข้อมูล 5 ปีย้อนหลัง พบว่าระยะเวลาตอบสนองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สาเหตุหลักมาจาก 1. สภาพการจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นใน และ 2. ระยะทางระหว่างศูนย์กู้ชีพ และที่เกิดเหตุ
เมื่อพิจารณาระยะทางเฉลี่ยของการออกปฏิบัติการพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของระยะทางเฉลี่ย จาก 6.92 กม. เป็น 7.11 กม. และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แม้ว่าพื้นที่รับผิดชอบจะเท่าเดิม อาจมีสาเหตุมาจาก 1. มีจำนวนจุดเกิดเหตุที่อยู่ห่างไกลจากศูนย์มากขึ้น 2. ได้รับการร้องขอสนับสนุนปฏิบัติการนอกพื้นที่มากขึ้น
ความสัมพันธ์ระหว่างระยะทาง และระยะเวลาตอบสนอง
เมื่อศึกษาถึงความสัมพันธ์ของระยะทาง และระยะเวลาตอบสนอง พบว่ามีความสัมพันธ์ไปในทางเดียวกัน โดยระยะทางที่ไกลขึ้น ส่งผลต่อระยะเวลาตอบสนองที่นานขึ้น และในปี 2558 มีความใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า ยังไม่พบความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน
สัดส่วนปฏิบัติการที่สามารถทำระยะเวลาตอบสนองได้ภายใน 8 นาที
การปฏิบัติการที่ระยะทางไปถึงจุดเกิดเหตุไม่เกิน 1 กิโลเมตร สามารถใช้ระยะเวลาตอบสนองได้ภายใน 8 นาที ได้มากกว่า 80% ส่วนจุดเกิดเหตุที่มีระยะทางตั้งแต่ 2 กิโลเมตร เป็นต้นไป โดยส่วนใหญ่จะไม่สามารถใช้ระยะเวลาตอบสนองภายใน 8 นาทีได้ อันเนื่องมาจากสภาพการจราจรดังที่ได้กล่าวข้างต้น และยังไม่พบความเปลี่ยนแปลงชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติปฏิบัติการที่ผ่านมา
สรุปผลการปฏิบัติงานของศูนย์กู้ชีพ”นเรนทร” พ.ศ.2558
- ด้านจำนวน และลักษณะของผู้ป่วย
จำนวนผู้ป่วยลดลง แต่มีสัดส่วนของผู้ป่วยฉุกเฉินมากขึ้น ผู้ป่วยที่ไม่ใช่จากการบาดเจ็บยังคงเป็นส่วนใหญ่ของผู้ป่วย มีสัดส่วนของผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉินเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มของอายุเฉลี่ยที่สูงขึ้น โดยมีภาวะฉุกเฉินที่พบบ่อย คือ หมดสติ ภาวะฉุกเฉินระบบทางเดินหายใจ ภาวะหัวใจหยุดเต้น ในส่วนของผู้ป่วยจากสาเหตุการบาดเจ็บพบการลดลงของอายุเฉลี่ย และมีสาเหตุส่วนใหญ่จากอุบัติเหตุจราจร
ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนา
- เตรียมความพร้อมรูปแบบปฏิบัติการ ตั้งแต่การรับแจ้ง การให้คำแนะนำเพื่อให้เกิดการช่วยเหลือเบื้องต้น ความรู้และทักษะของบุคลากร และอุปกรณ์ที่จำเป็น เพื่อการดูแลภาวะฉุกเฉินที่พบบ่อย มีแนวโน้มสำคัญมากขึ้น และมีอันตรายต่อชีวิต ได้แก่ ภาวะหมดสติ หัวใจหยุดเต้น ภาวะฉุกเฉินระบบทางเดินหายใจ และการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินที่สูงอายุ
- จัดตั้งเครือข่ายห้องฉุกเฉิน และทรัพยากรที่เกี่ยวข้องของโรงพยาบาลในพื้นที่ให้มีความพร้อมรับผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารักษาต่อในโรงพยาบาล เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง และทันเวลา
- พัฒนาระบบฐานข้อมูลเฉพาะด้าน เพื่อติดตามสถานการณ์ของภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉิน เช่น ฐานข้อมูลผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาล (Out of hospital cardiac arrest registry) ฐานข้อมูลผู้ป่วยจากการบาดเจ็บ (Trauma registry) ฐานข้อมูลผู้ป่วยภาวะฉุกเฉินที่มีเวลาจำกัด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมอง เพื่อใช้ข้อมูลเป็นแนวทางป้องกัน และลดความสูญเสียต่อไปในอนาคต
- ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมด้านความปลอดภัยในการจราจร เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ และลดความรุนแรงจากการบาดเจ็บเมื่อเกิดเหตุ
- ด้านประสิทธิภาพของระบบการปฏิบัติการ
พบว่าความพร้อมการออกปฏิบัติการลดลง จากการลดลงของสัดส่วนการออกตัวภายใน 2 นาที ในขณะที่ระยะเวลาตอบสนองยังเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว โดยมีสาเหตุหลักจากสภาพการจราจรในกรุงเทพมหานครชั้นใน และระยะทางไปถึงจุดเกิดเหตุที่ไกลเกินไป
ข้อเสนอแนะ เพื่อการพัฒนา - ประชาสัมพันธ์ผู้ใช้ถนน และประชาชนทั่วไปให้ตระหนักถึงความสำคัญของภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉิน และพร้อมให้ทางเมื่อพบรถฉุกเฉินในเส้นทาง
- พัฒนาความพร้อมบุคลากรให้เตรียมพร้อมออกปฏิบัติการ โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนระยะเวลาออกตัวได้ภายใน 2 นาที ให้มากกว่า 90%
- สนับสนุนให้เกิดเครือข่ายอาสาสมัครฉุกเฉินการแพทย์ (Emergency Medical Responder) และอาสาฉุกเฉินระดับชุมชน ในชุมชนที่อยู่ในเขตรับผิดชอบ เพื่อประสานกับศูนย์สื่อสารกู้ชีพ”นเรนทร” เข้าให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในเบื้องต้นก่อนที่รถกู้ชีพถึงที่เกิดเหตุ
- ปรับเปลี่ยนรูปแบบปฏิบัติการ เพื่อลดระยะเวลาตอบสนอง เช่น การใช้จักรยานยนต์กู้ชีพ การกำหนดจุดจอดรถฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลจากศูนย์กู้ชีพ เพื่อร่นระยะทางเข้าถึงจุด เกิดเหตุ